Windy เผยตำแหน่งบริเวณที่พบก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์สารตั้งต้นสำคัญของฝุ่น PM 2.5
เว็บไซต์วินดี้ (Windy) เว็บไซต์แสดงข้อมูลสภาพอากาศยอดนิยมแสดงรายละเอียดพื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ของประเทศไทยมีกลุ่มก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ปริมาณสูง รวมไปถึงพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ลาวและเมียนมา
นอกจากนี้บนเว็บไซต์ยังแสดงข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับสภาพอากาศไว้อย่างน่าสนใจ เช่น กระแสลม ฝน อุณหภูมิ เมฆบนท้องฟ้า คลื่นลมในทะเลและคุณภาพอากาศ ประกอบบนแผนที่มองเห็นตำแหน่งได้อย่างชัดเจน โดยใช้ข้อมูลจากเรดาร์และดาวเทียมพันธมิตร
สำหรับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีส่วนสำคัญในการก่อตัวของหมอกควันและเป็นสารตั้งต้นของมลพิษฝุ่น PM 2.5 ที่อันตราย มีปฏิกิริยาสูงกับสารเคมีอื่นๆ และเป็นตัวออกซิไดซ์ ไนโตรเจนไดออกไซด์สามารถเกิดขึ้นได้จากกิจกรรมทางธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ฟ้าผ่า ภูเขาไฟ หรือการสลายตัวทางชีวภาพ รวมไปถึงสาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ยานพาหนะที่ปล่อยอากาศเสีย การเผาพื้นที่ทางการเกษตร
บริเวณที่พบก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีปริมาณสูงในอากาศ จะทำให้เพิ่มโอกาสในการเกิด PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร ที่สามารถซึมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ส่งผลต่อสุขภาพและสามารถเกิด โรคปอดเรื้อรัง และโรคหัวใจขาดเลือด
ข้อมูลบริเวณที่พบก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลที่นำเสนอโดย GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) แสดงพื้นที่จุดความร้อนในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
ข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ประเทศไทยพบจุดความร้อน 5,396 จุด ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เช่น เมียนมาพบจุดความร้อน 6,877 จุด และลาวพบจุดความร้อน 4,076 บาท
สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นป่าอนุรักษ์ 3,024 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,790 จุด, พื้นที่เกษตร 251 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ 167 จุด , พื้นที่เขต สปก. 157 จุด, และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ จังหวัดน่าน 555 จุด แม่ฮ่องสอน 429 จุด และอุตรดิตถ์ 382 จุด
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ