ศาลปกครองสูงสุดออกคำแนะนำ 7 ข้อ เลี่ยงผลกระทบคดีช่วงโควิด
วันนี้ (2เม.ย.63) นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ของศาลปกครอง ได้ลงนามประกาศ "คำแนะนำประธานศาลปกครองสูงสุด เรื่องแนวทางการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และลดผลกระทบต่อคู่กรณีในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19" ซึ่งประกาศคำแนะนำดังกล่าวมีเนื้อหา 7 ข้อ ดังนี้
1.การตรวจคำฟ้อง ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี กรณีคำฟ้องใหม่ที่ยื่นไว้แล้วช่วงคาบเกี่ยวการเกิดสถานการณ์เชื้อไวรัส COVID-19 คำฟ้องที่ยื่นในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด การใช้ดุลพินิจตรวจคำฟ้องให้คำนึงถึงอุปสรรค หรือข้อขัดข้องที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ฟ้องในการยื่นคำฟ้องที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรค โดยตุลาการศาลปกครองใช้ดุลพินิจตามที่เห็นเป็นการยุติธรรม รับคำฟ้องที่ยื่นเมื่ิอพ้นกำหนดระยะเวลาฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการยื่นฟ้องโดยมีเหตุจำเป็นอื่น ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 52 วรรคสอง
2.ระยะเวลาที่กำหนดให้คู่กรณีทำคำให้การ คำคัดค้านคำให้การ คำให้การเพิ่มเติม คำแถลงหรือคำชี้แจง-กรณีหากเวลาที่ศาลกำหนดให้ยื่นนั้นครบกำหนดในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโดยคู่ความยังไม่สามารถดำเนินการยื่นได้ตามคำสั่ง ก็ให้พิจารณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กำหนดระยะเวลาดำเนินการต่างๆ ใหม่ โดยไม่ต้องรอให้คู่กรณีร้องขอขยายระยะเวลา หรือเมื่อคู่กรณีร้องขอก็ให้มีคำสั่งอนุญาตขยายเวลาได้ โดยใช้วิธีแจ้งให้คู่ความทราบทางรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ สื่อดิจิตอล ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2562 หรือ กรณีที่ตุลาการศาลปกครองไม่อาจปฏิบัติหน้าที่พิจารณาสั่งเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลา
การสั่งอนุญาตขยายเวลาที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาด ให้ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ใช้อำาจตามระเบียบ ก.ศป.ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุดและอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นและการบริหารงานศาลปกครอง พ.ศ.2544 ข้อ 6 (1) ,7(1) กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นที่มิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ตุลาการศาลปกครองในองค์คณะนั้นไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้พิจารณาร่วมกับตุลาการที่รับผิดชอบสำนวน มีคำสั่งเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลา การอนุญาตขยายระยะเวลา-กรณีหากศาลจะพิจารณามีคำสั่งให้ดำเนินการต่างๆ โดยระยะเวลาปกติที่คู่กรณีต้องปฏิบัติ อยู่ในช่วงเวลาของสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค ให้ตุลาการศาลปกครองในสำนวนคดีที่รับผิดชอบอยู่ ใช้ดุลพินิจกำหนดระยะเวลาที่คู่กรณีต้องปฏิบัติได้ตามที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงอุปสรรค/ข้อขัดข้องที่อาจเกิดกับคู่กรณีในการปฏิบัติช่วงเวลาแพร่ระบาด
3.การกำหนดวันนั่งพิจารณาคดี วันนัดไต่สวน วันนัดประชุมไกล่เกลี่ยข้อพิพาท วันนัดฟังคำพิพากษา การดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดที่ต้องกระทำต่อหน้าศาล หากกำหนดนัดไว้แล้วและจะถึงกำหนดในช่วงสถานการณ์ระบาด หรือกรณีที่ศาลจะพิจารณากำหนดวันนัดในช่วงเวลาสถานการณ์การแพร่ระบาด ตุลาการศาลปกครองอาจใช้ดุลพินิจกำหนดวัน-เวลาใหม่ได้ หรือพิจารณากำหนดวันนัดที่คำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนในคดี การเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายของคู่กรณี ผลกระทบที่คู่กรณีจะได้รับจากการเดินทางมาที่ทำการศาลเพื่อร่วมกระบวนพิจารณา โดยให้ศาลสนับสนุนคู่ความเข้าร่วมกระบวนพิจารณาตามวิธีการที่คณะกรรมการอำนวยการป้องกันและแก้ปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ของศาลปกครอง
กำหนดไว้ในประกาศฯ ฉบับที่1/2563 ลงวันที่ 19 มี.ค.63 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคู่กรณี ประชาชน หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าที่ของรัฐจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ข้อ 1.3 ที่ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดี โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบการประชุมทางจอภาพได้ ณ ที่ทำการศาลปกครองทุกแห่งทั่วประเทศ และการใช้ Application หรือ platform อื่นๆ เช่น LINE , Facebook เป็นต้น เพื่อลดภาระการเดินทางมายังที่ทำการศาลของคู่กรณี
4.ระยะเวลาที่กำหนดให้คู่กรณีปฏิบัติ หรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของคู่กรณีในกระบวนพิจารณา ตามบทบัญญัติิระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ภาค 2 นั้น ให้ตุลาการศาลปกครอง ใช้ดุลพินิจพิจารณากำหนดระยะเวลา มีคำสั่งขยายเวลา โดยคำนึงถึงอุปสรรค ข้อขัดข้องที่อาจเกิดขึ้นกับคู่กรณีในการปฏิบัติช่วงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาด
5.การบังคับคดี กรณีที่ระยะเวลาการปฏิบัติตาม คำบังคับของศาลจะครบกำหนดในช่วงคาบเกี่ยวกับการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด ในช่วงที่มีสถานการณ์การระบาด และเป็นกรณีที่ปรากฏความต่อศาลว่ายังไม่ได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับของศาล ให้ตุลาการศาลปกครองใช้ดุลพินิจปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาตรา 75/3 , 75/4 (ที่ให้อำนาจพิจารณา ไต่สวน มีคำสั่งกำหนดวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือมีคำสั่งใดๆเพื่อให้การบังคับคดีเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว หรือให้ศาลปกครองไต่สวนหรือแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีที่ไม่ได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับให้ถูกต้องครบถ้วนหรือปฏิบัติราชการสมควร โดยสามารถมีคำสั่งให้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นชำระค่าปรับต่อศาลตามจำนวนที่สมควรครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท
หากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจแจ้งผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่หรือลงโทษทางวินัยต่อไปก็ได้) ประกอบบทบัญญัติิระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ภาค 4 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง (เช่น การแจ้งให้หน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐ พยานผู้เชี่ยวชาญ หรือคู่กรณี ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความเห็นเกี่ยวกับการบังคับคดี)
6.การแนะนำ ช่วยเหลือคู่กรณี-ประชาชนให้ใช้ช่องทางติดต่อกับศาลโดยลดภาระการเดินทางมายังที่ทำการศาลปกครอง ด้วยการให้สำนักงานศาลปกครองจัดให้มีการแนะนำคู่กรณี ประชาชน ทราบถึงช่องทางการติดต่อกับศาล เช่น การยื่นฟ้อง ยื่นคำให้การ ผ่านระบบทางอิเล็กทรอนิกส์ ไปรษณีย์ลงทะเบียน แฟกซ์ การดำเนินกระบวน พิจารณาคดีผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ หรือ Video Conference การใช้ LINE Facebook เป็นต้น
7.หมายศาล ให้สำนักงานศาลปกครอง กำหนดมาตรการให้มีการจัดทำหมายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และให้มีการส่งหมายไปยังคู่กรณีผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ลักษณะที่ชัดเจน ครบถ้วนถูกต้องและรวดเร็ว รวมทั้งให้กำหนดวิธีการรายงานการส่งหมาย ให้ศาลทราบด้วยช่องทางสื่อสารต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม แทนการรายงาน ด้วยกระดาษด้วย
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand