จีนเร่งเครื่องพัฒนา “หุ่นยนต์มนุษย์” ตั้งเป้าแซงหน้าทั่วโลก ก้าวสู่ยุคจักรกล

ภายหลังจากการขับเคี่ยวในสมรภูมิอวกาศ และการช่วงชิงความเป็นผู้นำในโลกของปัญญาประดิษฐ์ ทั่วโลกได้เกิดคลื่นลูกใหม่ ที่ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ นั่นคือ "การแข่งขันด้านหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์" หรือหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์
จีน เป็นอีกหนึ่งประเทศที่จริงจังกับการแข่งขันครั้งนี้ อย่างเช่นที่บริษัทด้านหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ อากิบอต (AgiBot) ในเซี่ยงไฮ้ ที่ตอนนี้กำลังเร่งฝึกฝนทักษะพื้นฐานในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับหุ่นยนต์มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการพับเสื้อยืด การทำแซนด์วิช หรือแม้กระทั่งการเปิดประตู
หุ่นยนต์ของบริษัทจะทำการฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึง 17 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อสร้างขุมทรัพย์ข้อมูลอันมหาศาลใช้ในการฝึกฝนให้หุ่นยนต์เหล่านี้สามารถนำทาง และปฏิสัมพันธ์กับโลกมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
วิสัยทัศน์นี้ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากรัฐบาลจีน โดยได้จัดสรรงบประมาณมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 665 ล้านล้านบาทให้กับภาคส่วนนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา และในกรุงปักกิ่ง ก็มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัพในสาขาเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น AI และหุ่นยนต์เช่นกัน
ไม่ใช่แค่บริษัท อากิบอต (AgiBot) เท่านั้นที่กำลังเติบโต บริษัทสตาร์ตอัพด้านหุ่นยนต์ของจีนชื่อดังอย่าง ยูนิทรี (Unitree) ก็ได้ขยายพื้นที่โรงงานเป็น 10,000 ตารางเมตร และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในรูปแบบของเงินอุดหนุนด้านที่อยู่อาศัยสำหรับบุคลากรด้านเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน
สิ่งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ที่ช่วยผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว
ผลลัพธ์ของการสนับสนุนดังกล่าวปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากการผุดขึ้นของบริษัทใหม่ ๆ ในภาคส่วนนี้ ตามข้อมูลจาก มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลก ที่ระบุว่าในปี 2024 มีบริษัทจีนถึง 31 แห่งได้เปิดตัวหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์รุ่นใหม่มากถึง 36 รุ่น ซึ่งแตกต่าง กับบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่เปิดตัวเพียง 8 รุ่นเท่านั้น
ความได้เปรียบที่สำคัญของจีนส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศสามารถครองตลาดฮาร์ดแวร์ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของหุ่นยนต์มนุษย์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนได้มากถึงร้อยละ 90 ซึ่งช่วยลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดสำหรับผู้เล่นรายใหม่ ๆ
นอกจากนี้ จีนยังกลายเป็นศูนย์กลางของผู้ผลิตที่ดำเนินงานในโครงการหุ่นยนต์มนุษย์ทั่วโลก และมีอำนาจในการควบคุมห่วงโซ่อุปทานอย่างมีนัยสำคัญ สตาร์ตอัพจีนบางแห่งถึงกับสามารถจำหน่ายหุ่นยนต์ในราคาเริ่มต้นเพียง 100,000 หยวน หรือราว 460,000 บาท
นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์อาจมีเส้นทางการเติบโตที่คล้ายคลึงกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีต้นทุนลดลงอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีบริษัทที่คาดการณ์ว่าต้นทุนของหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ของตน จะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ภายในห้าปีเท่านั้น