เคาะแล้ว! ครอบครอง "ยาบ้า" ไม่เกิน 5 เม็ด สันนิษฐานเป็น "ผู้เสพ"
ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมหารือการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น
นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นไปตามข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายเรื่องยาเสพติดโดยการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ซึ่งการออกร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 นั้น กระทรวงสาธารณสุขเคยเสนอร่างฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา และได้ให้มีการทบทวน ซึ่งจากการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
โดยรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ทั้งข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ ที่มีผู้แทนจากกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาให้รายละเอียดเกี่ยวกับองค์ประกอบของยาและผลกระทบจากขนาดของยา และผลกระทบในมิติอื่นๆ เช่น ผู้บังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม มิติต่อสังคมและชุมชน ที่จะเกิดจากกำหนดจำนวนยาเสพติด ระบบจัดการทางกฎหมาย การบำบัด กระบวนการยุติธรรม และระบบราชทัณฑ์
โดยเบื้องต้นมีความเห็นตรงกันว่า ในส่วนของเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้าที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในการครอบครองเพื่อใช้เสพ ควรกำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ด
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า การกำหนดปริมาณไว้ที่ 5 เม็ด จะเป็นการให้โอกาสกับผู้ที่ครอบครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้สันนิษฐานไว้ใช้ในการครอบครองเพื่อเสพ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น ในการแยกแยะเบื้องต้นว่าเป็นผู้เสพ ซึ่งหากสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่หากไม่สมัครใจบำบัด ก็จะดำเนินคดีส่งศาลเพื่อบังคับบำบัดต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้จะครอบครองต่ำกว่า 5 เม็ด แต่หากสืบสวนพบพฤติกรรมว่ามีการค้า ก็จะมีความผิดต้องถูกดำเนินคดี เพราะไม่ถือว่าเป็นผู้เสพ
ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ ตามระเบียบของการออกร่างกฎกระทรวง จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ก่อน จากนั้นจึงจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยจะมีการพิจารณาปริมาณยาเสพติดอื่นๆ ที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพไว้ในร่างกฎกระทรวงด้วย
ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทธ์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการทบทวนวรรณกรรมและข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี พบว่า การใช้ตั้งแต่ปริมาณน้อยจนถึงเพิ่มมากขึ้น จะมีผลต่อสมองและระบบประสาทของผู้เสพแตกต่างกันไป โดยการใช้ในระดับที่มากกว่า 55 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดอาการทางจิต หลงผิดแบบหวาดระแวง เข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วย SMI-V หรือผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง ทั้งการทำร้ายตนเอง การทำร้ายผู้อื่น ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในสังคม
ที่มา สธ.
ภาพจาก สธ. / ผู้สื่อข่าวหนองคาย