ไวรัสโคโรนา : ความรุนแรงในบ้าน วิกฤตแฝงในวิกฤตโควิด-19

ขณะที่คนส่วนใหญ่ในโลกต้องกักตัวเองอยู่ในบ้านเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความกังวลว่าสถานการณ์จะเลวร้ายขึ้นสำหรับครอบครัวที่มีปัญหาความรุนแรงในบ้าน
ข้อมูลของคณะกรรมการต่อต้านด้านความรุนแรงในบ้านของอังกฤษและเวลส์ ระบุว่า การโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในบ้านในสหราชอาณาจักรในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 65%ขณะที่สหประชาชาติเตือนว่า ผู้หญิงในประเทศที่ยากจนและที่อยู่ในบ้านที่เล็กกว่า จะมีช่องทางน้อยกว่าในการร้องทุกข์เหตุทารุณ
บีบีซีได้พูดคุยกับผู้หญิงสองคนที่ต้องกักตัวเองในบ้านและบอกว่าโดนผู้ชายในบ้านกระทำทารุณ
กีตา อายุ 27 ปี จากอินเดีย
การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นหนึ่งวันก่อนที่อินเดียจะประกาศให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้าน 21 วันเพื่อรับมือกับไวรัสโคโรนา
กีตา ตื่นนอนตอนตีห้าขณะสามีนอนกรนเสียงดังอยู่ข้าง ๆ
เมื่อคืนก่อนหน้า วิชัย สามีเธอ กลับบ้านมาด้วยสภาพมึนเมาและหงุดหงิด การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนใช้รถสาธารณะน้อยลง รายได้จากการขับรถสามล้อของวิชัยลดลงจาก 1,500 รูปี หรือราว 650 บาท เหลือ 700 รูปี หรือราว 300 บาทต่อวัน
"จะเป็นแบบนี้ไปอีกกี่วันเนี่ย" เขาตะโกน และขว้างขวดเหล้าที่ดื่มอยู่ใส่กำแพง ทำให้ลูก ๆ ตกใจรีบวิ่งมาหลบข้างหลังเธอ
ยังดีที่หลังจากนั้นวิชัยก็ขึ้นไปนอนและหลับไปบนฟูกเล็ก ๆ ที่ทุกคนในครอบครัวนอนด้วยกัน
"ต้องใช้เวลาสักพักเลยกว่าจะปลอบลูก ๆ ได้" กีตา เล่า
"พวกเขาเห็นพ่อโกรธเกรี้ยวหลายครั้งในชีวิต แต่สัปดาห์ที่ผ่าน ๆ มามันแย่กว่านั้นมาก พวกเขาเห็นพ่อปาข้าวของใส่กำแพงและดึงผมฉัน"
กีตา จำไม่ได้แล้วว่าเคยโดนสามีทุบตีกี่ครั้ง ครั้งแรกในคืนวันแต่งงาน เธอเคยพยายามจะเลิกกับเขา แต่เขาก็ไม่ยอมให้เธอพาลูกไปด้วย
- คนไร้บ้านในอังกฤษอยู่กันอย่างไรในภาวะปิดเมืองสู้โควิด-19
- เรื่องจริงจากหมอผู้อยู่แนวหน้าของสมรภูมิโควิด-19
- “ผมเคยเป็นคนไร้บ้าน ตอนนี้ผมมีอาชีพขายบ้าน”
ครอบครัวของเธออาศัยอยู่ในชุมชนยากจนในพื้นที่ห่างไกล เป็นปกติที่เธอจะเดินเท้าหนึ่งกิโลเมตรเพื่อไปตักน้ำที่บ่อบาดาล หลังจากกลับมาเธอก็จะคุยเล่นกับเพื่อนบ้านระหว่างรอรถเข็นขายผักมาถึง
หลังจากซื้อของเสร็จเธอก็จะเตรียมทำอาหารเช้า สามีจะออกจากบ้านตอน 7 โมง ก่อนจะกลับมากินข้าวกลางวันและงีบ และจะออกไปอีกครั้งหลังลูกสองคนโตกลับมาจากโรงเรียน
"แต่มันเปลี่ยนไปหลังจากโรงเรียนเริ่มปิดวันที่ 14 ลูกอยู่บ้านตลอด และมันเริ่มทำให้สามีฉันหงุดหงิด"
"ปกติเขาจะโมโหใส่ฉันเท่านั้น แต่ตอนนี้เริ่มโมโหลูกกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่นการวางถ้วยชาบนพื้น แล้วฉันก็จะพยายามพูดอะไรเพื่อเบี่ยงเบนให้เขามาโกรธฉันแทน แต่พอต้องอยู่ด้วยกันไปเรื่อย ๆ ฉันก็ไม่รู้จะหาอะไรมาเบี่ยงเบนความสนใจเขาแล้ว"
ก่อนหน้านี้ ระหว่างสามีไปทำงาน เธอแอบไปเข้าชั้นเรียนที่คนในชุมชนจัดขึ้นเพื่อสอนให้ผู้หญิงเย็บผ้า อ่านและเขียนหนังสือเป็น กีตาอยากจะสามารถหาเงินได้ด้วยตัวเองและพาลูกหนีไป ที่นี่ เธอยังได้พบกับคนให้คำปรึกษากับเหยื่อความรุนแรงในบ้านด้วย
แต่เธอก็ไม่ได้ไปอีกหลังจากอินเดียประกาศปิดเมือง 21 วัน ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 24 มี.ค.
วิมเลช โซลันกี อาสาสมัครของสัมภาลีทรัสต์ (Sambhali Trust) องค์กรที่ให้การช่วยเหลือผู้หญิงในเมืองโยธาปุระ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของรัฐราชสถาน บอกว่า ไวรัสโคโรนาทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในอันตราย
"การปิดเมืองโดยสิ้นเชิงส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ตอนนี้ไม่มีรถเข็นขายของชำในพื้นที่แล้ว ดังนั้นพวกเขาจำเป็นต้องเดินทางไปไกลกว่าเดิมเพื่อไปซื้ออาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ต"
"สถานการณ์ที่เคร่งเครียดแบบนี้ยิ่งไปกระตุ้นคู่ครองของพวกเขาที่ชอบกระทำทารุณอยู่แล้วให้มีพฤติกรรมรุนแรงเข้าไปใหญ่"
ไค อายุ 19 ปี จากนครนิวยอร์ก
สัปดาห์ที่แล้ว ไค หญิงวัยรุ่นผู้นี้ต้องย้ายกลับไปอยู่บ้านที่เธอตั้งใจว่าจะไม่กลับมาเหยียบอีก บ้านที่มีพ่อซึ่งไคบอกว่าทารุณทางกายและทางเพศเธอมาหลายปี
แม่ของไคมีปัญหาทางจิตมาตลอด และเมื่อต้องตกงานเนื่องจากวิกฤตไวรัสโคโรนา แม่ก็ยิ่งเครียดเข้าไปใหญ่และบอกให้เธอย้ายออกไปอยู่กับพ่อแทน
สองสามเดือนที่ผ่านมา ไคเพิ่งเริ่มเข้ารับการบำบัดหลังจากถูกทารุณมาเป็นหลายปี เธอบอกว่าถูกทารุณตั้งแต่ยังเพิ่งหัดเดิน และก็ยังไม่เคยเปิดเผยเรื่องนี้กับแม่และน้องสาว การบำบัดนี้ช่วยให้เธอเริ่มมีความหวัง แต่แล้วสถานช่วยเหลือนี้ก็ต้องปิดตัวลงเพราะโรคโควิด-19 และเธอก็ย้ายกลับไปอยู่กับพ่อในที่สุด
"พ่ออยู่บ้านตลอด ระหว่างวันเขาดูรายการทีวีจากคอมพิวเตอร์ในห้องนั่งเล่น ตอนกลางคืนฉันได้ยินเสียงเขาดูหนังโป๊"
หลังจากย้ายกลับมาบ้านนี้ ไคแทบไม่ได้นอน ที่ผ่านมา การทารุณมักจะเกิดขึ้นตอนที่เธอทำให้พ่อหงุดหงิด ดังนั้นเธอจึงวางแผนจะอยู่ห่าง ๆ เขาให้มากที่สุด ออกจากห้องนอนแค่ตอนไปห้องน้ำและไปทำอะไรกินในห้องครัว
"เขาทำราวกับว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่แปลกประหลาด แต่ก็ไม่ได้พูดถึงการกระทำทารุณ นี่ทำให้ฉันแทบเป็นบ้า เขายังไม่ได้ทำอะไรฉัน แต่การต้องรออย่างหวาดผวานี้มันกำลังฆ่าฉัน"
ไคหวังว่าแม่จะให้เธอกลับมาอยู่ด้วยเร็ว ๆ นี้ หรือไม่ก็ให้วิกฤตไวรัสโคโรนาผ่านพ้นไป เธอจะได้ไปหาที่อยู่ใหม่
ช่วยกันเป็นหูเป็นตา
พุมซิเล เอ็มแลมโบ งะคูกา ผู้อำนวยการองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ บอกกับบีบีซีว่า ต้องมีทุนเพิ่มให้คนที่ทำงานในพื้นที่ได้มีอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลหรือ PPE สำหรับเข้าไปหาและให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่อยู่ในสภาพเปราะบางในช่วงนี้ และรัฐบาลต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ก่อน
เธอบอกว่า ในขณะที่ในสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักร มีการโทรไปหาสายด่วนช่วยเหลือเยอะขึ้น สถานการณ์จะเป็นไปในทางตรงข้ามสำหรับในประเทศที่กำลังพัฒนา
"เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้หญิงจากพื้นเพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าในหลายประเทศจะโทรรายงานเรื่องความรุนแรงในบ้านเพราะว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านที่มีแค่ห้องสองห้องกับผู้กระทำทารุณ"
ผู้อำนวยการองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ บอกว่า ตัวอย่างที่มีให้เห็นมาแล้วคือช่วงการระบาดของโรคอีโบลาในแถบแอฟริกาตะวันตกที่มีกรณีความรุนแรงทางเพศในบ้านเพิ่มมากขึ้น
ยอดนิยมในตอนนี้
