รีเซต

เกษตรกรเฮ! ซีพีรับซื้อผลไม้ช่วยเกษตรกร-เอสเอ็มอี ระบายสินค้า บรรเทาทุเรียนล้นตลาด

เกษตรกรเฮ! ซีพีรับซื้อผลไม้ช่วยเกษตรกร-เอสเอ็มอี ระบายสินค้า บรรเทาทุเรียนล้นตลาด
ข่าวสด
25 เมษายน 2564 ( 15:53 )
79

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ระบาดหนัก และตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุดเพิ่มขึ้นเกิน 2,000 คนต่อวัน บรรดาโรงคัดบรรจุผลไม้ต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ต่างชะลอการรับซื้อ เพราะการส่งออกไปยังต่างประเทศหยุดชะงัก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด โดยเฉพาะผลไม้ฤดูกาลซึ่งมีผลผลิตเหลือเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในปีนี้มีแนวโน้มว่าผลผลิตจะออกมามาก เนื่องจากปีที่ผ่านมาผลผลิตถูกส่งออกไปต่างประเทศจำนวนมากและได้ราคาดี โดยเฉพาะทุเรียน มะม่วง มังคุด ลำไย แต่ปีนี้ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งออกผลผลิตไปต่างประเทศประสบปัญหาอีกครั้ง เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ามีกำลังการซื้อลดลง รวมทั้งสถานการณ์ในหลายประเทศยังน่าห่วง

 

 

น.ส.ณัชชาชนก ณ ตะกั่วทุ่ง ผู้จัดการโครงการซีพี เฟรช บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า คนไทยต้องช่วยกันบริโภคผลไม้ในประเทศในภาวะที่โควิดกลับมาระบาดอีกครั้ง ล่าสุดซีพีได้ใช้เครือข่ายค้าปลีกร่วมกับโลตัสและแม็คโคร ช่วยเป็นช่องทางกระจายสินค้าให้กับชาวสวนทุเรียนระบายสินค้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแรงใจในการสนับสนุนชาวสวน ด้วยการรับซื้อผลไม้โดยเฉพาะทุเรียน และกระจายผลผลิตเพื่อไม่ให้เกิดภาวะล้นตลาด ที่ส่งผลให้ราคาสินค้าตกต่ำ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ หวังจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทยในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ให้มีรายได้ และมีช่องทางในการจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาเป็นธรรม

 

 

“เกษตร 4.0 ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลบนความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย เปรียบดั่งทรัพยากรน้ำมัน ที่จะทำให้คนไทย โดยเฉพาะเกษตรกรไทย ชาวสวนไทย ได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ประเทศที่มีน้ำมัน คนของเขาจะรวย แต่ของเรา อย่ามองข้ามความอุดมสมบูรณ์ เพราะความอุดมสมบูรณ์นี้มีค่าและทำให้คนของไทยรวยได้เช่นกัน”ผู้จัดการโครงการซีพี เฟรชกล่าว

 

 

ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ สถาบันทุเรียนไทยเปิดเผยบทวิเคราะห์ อนาคตทุเรียนไทย : โอกาสหรือความเสี่ยง โดยเทียบสถานการณ์ 10 ปี (ปี 2554-2563) ซึ่งระบุว่าการบริโภคทุเรียนภายในประเทศมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลผลิตทุเรียนไทย 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 83% (2,028,490 ตัน ในปี 2568) บริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น 101.7% (983,817 ตัน ในปี 2568) ส่งออกเพิ่มขึ้น 68.3% (1,044,672 ตันในปี 2568) เทียบจากปี 2563 โดยปี 2563 มีสัดส่วนการบริโภคในประเทศ 44% ส่งออก 56% และในปี 2568 จะมีสัดส่วนการบริโภคในประเทศ 48.5% ส่งออก 51.5% ดังนั้น หากมีการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยในประเทศ ถือเป็นการเพิ่มช่องทาง ลดความเสี่ยงเกษตรกร แทนที่จะพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว หากมีผลกระทบในการขนส่งระหว่างประเทศ เกษตรกรยังสามารถพึ่งพิงความต้องการของตลาดในประเทศได้

 

 

ทั้งนี้ การส่งออกไปยังต่างประเทศ เกษตรกรไทยยังมีความเสี่ยงหลายด้าน ได้แก่ 1. ตลาดใหญ่อย่างจีนอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศอื่น ทำให้ประเทศไทยมีคู่แข่งมากขึ้น 2. ไทยขาดระบบตรวจสอบย้อนกลับ 3. ทุเรียนอ่อน และเครื่องมือในการตรวจขาดประสิทธิภาพ 4. จีนตรวจสอบสินค้านำเข้าอย่างเข้มงวดมากขึ้น 5. จีนมีการปลูกทุเรียน และพัฒนาสายพันธุ์ 6. ประเทศไทยเน้นส่งออกทุเรียนสด 7. ขาดแพ็กเกจจิ้งในการยืดอายุทุเรียนสด 8. สวมสิทธิ์ทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน 9. ตลาดถูกควบคุมโดยพ่อค้าคนกลางหลายทอด ทำให้การที่ส่งเสริมในการรับซื้อสินค้ามาสู่ช่องทางค้าปลีกจากเกษตรกรโดยตรง ถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และ ยังช่วยลดภาระ ในช่วงสินค้าล้นตลาดอีกด้วย อย่างไรก็ตามการให้ความรู้ในการพัฒนาสายพันธุ์ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเกษตรกรไทยในการแข่งขันระยะยาว ซึ่งต้องมีการทำงานด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้นต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง