รีเซต

"ชุมชนหลังหมอชิตเก่า" บุกคมนาคมยื่นหนังสือค้านย้ายสถานีหมอชิต2

"ชุมชนหลังหมอชิตเก่า" บุกคมนาคมยื่นหนังสือค้านย้ายสถานีหมอชิต2
มติชน
10 พฤศจิกายน 2563 ( 10:26 )
135
"ชุมชนหลังหมอชิตเก่า" บุกคมนาคมยื่นหนังสือค้านย้ายสถานีหมอชิต2

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 63 ชุมชนหลังหมอชิตเก่า รวมตัวยื่นหนังสือถึง รมว.คมนาคม และผอ.สนข.คัดค้านการย้ายสถานี บขส.กลับมาอยู่ที่หมอชิตเก่า ในพื้นที่โครงการคอมเพล็กซ์เอกชน ชี้หมอชิต 2 ที่ตั้งของสถานี บขส.ปัจจุบันอยู่ใกล้กับอู่รถเมล์ ขสมก.และสถานีรถตู้ และสามารถเชื่อมต่อการเดินทาง กับ “สถานีกลางบางซื่อ”ได้สะดวกกว่า

 

ทั้งนี้ตัวแทนประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนหลังหมอชิตเก่า ได้เดินทางมาที่ กระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เพื่อคัดค้านการย้ายสถานีรับส่งผู้โดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)กลับมาใช้พื้นที่หมอชิตเก่า ในที่ดินของกรมธนารักษ์ ที่ให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนพัฒนาเป็นโครงการคอมเพล็กซ์ศูนย์การค้า โรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์

 

นางสาววินินท์อร ปรีชาพินิจกุล ในนามผู้แทนชุมชนหลังหมอชิตเก่า เปิดเผยว่า ปัจจุบันไม่มีความจำเป็นและไม่มีความเหมาะสมและไม่มีเหตุผลเพียงพอ ในการย้ายสถานีรับส่งผู้โดยสาร บขส.กลับมาแออัดยัดเยียดอยู่บริเวณหมอชิตเก่า ตามที่เคยมีการทำแผนไว้ในอดีตว่าจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางคมนาคม เพราะปัจจุบันสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและระบบการคมนาคมขนส่งของกรุงเทพมหานคร มีพัฒนาการไปไกลกว่าเดิมมากแล้ว โดยสถานี บขส.ที่ตั้งบริเวณถนนกำแพงเพชร 2 ในปัจจุบันหรือที่เรียกว่าหมอชิตใหม่หรือหมอชิต 2 นั้นมีความเหมาะสมในการเชื่อมต่อการเดินทางโดยรถขนส่งสาธารณะ ระหว่างรถบัสโดยสารและระบบรางได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 

นางสาววินินท์อร กล่ววว่า ทั้งนี้หากโครงการก่อสร้าง “สถานีกลางบางซื่อ” ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งใหม่ ที่รวมระบบขนส่งมวลชนทางรางทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2564 รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่จะเปิดบริการช่วงปี 2565 โดย “สถานีกลางบางซื่อ” จะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อการเดินทางโดยรถขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ อย่างครบวงจร ซึ่งสถานีกลางบางซื่อ ถือเป็นระบบคมนาคมขนส่งสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว และตอนที่คิดจะย้าย บขส.กลับหมอชิตเก่า เพื่อหวังใช้เป็นศูนย์กลางคมนาคม ในครั้งนั้นยังไม่มีสถานีกลางบางซื่ออยู่ในแผน ดังนั้นสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมขณะนี้ เปลี่ยนไปจากอดีตมากแล้ว

 

โดยหากสถานี บขส.ยังอยู่ในพื้นที่หมอชิต 2 ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ใกล้เคียงและมีความเชื่อมต่อกับ “สถานีกลางบางซื่อ” มากกว่า จะเป็นการอำนวยความสะดวก ต่อการเดินทางของประชาชนมากกว่า เพราะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถโดยสาร และระบบราง คือสถานีกลางบางซื่อ และรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้อย่างสมบูรณ์แบบและเหมาะสมที่สุด

 

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ยังเคยออกมาระบุว่า “พื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 นี้สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางระบบรถโดยสารสาธารณะหรือ Bus Transportation Hub ได้หลัง “สถานีกลางบางซื่อ” และรถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดให้บริการ เพราะจะมีการเชื่อมต่อกับอู่รถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.ที่อยู่ด้านข้าง และสถานีรถตู้ถนนกำแพงเพชร (อยู่ฝั่งตรงข้ามสถานีหมอชิต 2) และการเดินทางเชื่้อมต่อไปยังสถานีกลางบางซื่อ จะทำได้สะดวกและใช้เวลาไม่นานโดยคมนาคมมีแผนให้ ขสมก.จัดรถวิ่งวนหมุนเวียน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ที่จะเดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบรางจากสถานีกลางบางซื่อมาที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 เชื่อว่าประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะจะได้ประโยชน์สูงสุด

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร เป็นทำเลและพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการต่อเชื่อมการเดินทางในทุกด้าน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด เพิ่มความสะดวก และประหยัดเวลาในการเดินทางได้อย่างมาก โดยไม่จำเป็นต้องย้ายสถานีเข้ามากระจุกตัวบนพื้นที่หมอชิตเก่า ซึ่งจะสร้างความแออัดและสร้างปัญหาการจราจรเพิ่มขึ้นให้กับพื้นที่โดยรอบบริเวณนี้ ที่ปัจจุบันประสบปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักอยู่แล้ว ในช่วงเวลาปกติและชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็น และหากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว ก็จะต้องมีประชาชนเดินทางเข้าเมืองมาจากทุกสารทิศทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพื่อมาใช้บริการ รถโดยสาร บขส.เดินทางออกไปต่างจังหวัด สร้างความแออัดให้กับการจราจรบริเวณโดยรอบหมอชิตเก่ายิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังจะสร้างมลพิษและเพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่โดยรอบและบริเวณใกล้เคียง ทั้งในระหว่างการก่อสร้าง และในช่วงที่ประชาชนจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาใช้บริการ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะย้ายสถานี รับส่งผู้โดยสาร บขส.กลับมาที่หมอชิตเก่า เพื่อสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นเพิ่มอีก

 

นางสาววินินท์อร ยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวบ้านหลังหมอชิตเก่าได้ยื่นหนังสือ ถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านการเวนคืนที่ดินชาวบ้าน บริเวณหลังหมอชิตเก่ายาวออกไปถึงริมถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อสร้างทางยกระดับหรือถนนลอยฟ้าออกจากโครงการคอมเพล็กซ์ของเอกชน ที่สถานี บขส.จะย้ายเข้ามาอยู่ในโครงการดังกล่าว เพราะจะต้องมีการใช้งบประมาณของรัฐบาล ที่มาจากภาษีประชาชนมาจ่ายค่าเวนคืนที่ดินและก่อสร้างถนนลอยฟ้า โดยอ้างว่าเพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออกให้กับ รถ บขส.เพราะถือเป็นบริการสาธารณะ

 

“การเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างถนนลอยฟ้าเพื่อเป็นทางเข้า-ออกในโครงการนี้ จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ได้รับสัมปทานสร้างคอมเพล็กซ์หรือโครงการมิกซ์ยูสมากกว่า เพราะโครงการพัฒนาที่ดิน โดยสร้างเป็นคอมเพล็กซ์บนที่ดินของกรมธนารักษ์บริเวณหมอชิตเก่านี้ จะมีการใช้พื้นที่เพื่อการพาณิชย์มากกว่า 85% ของพื้นที่ทั้งหมด คือเป็นศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม เซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์ อาคารเช่าจอดรถ เป็นต้น ขณะที่สถานีรับส่งผู้โดยสารและ บขส.หรือภาครัฐจะได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพียง 15% เท่านั้น

 

ดังนั้นจึงเป็นการเวนคืนที่ดินชาวบ้าน ที่อาจขัดต่อหลักการพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการให้รัฐได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเป็นการเวนคืนเพื่อการเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ซึ่งอาจขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้” นางสาววินินท์อร กล่าวและว่า เราไม่ได้คัดค้านโครงการคอมเพล็กช์ที่จะเกิดขึ้นบนพื้นที่หมอชิตเก่า แต่เราคัดค้านการย้ายสถานีรับส่งผู้โดยสาร บขส.กลับมาที่หมอชิตเก่า และคัดค้านการใช้งบประมาณจากเงินภาษีของประชาชนมาเวนคืนที่ดินและสร้างถนนลอยฟ้า ที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากกว่าเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐและของประชาชน และเรายังสงสัยถึงความพยายามที่จะผลักดันให้มีการย้ายสถานี บขส.กลับมาที่หมอชิตเก่าว่าเพื่อนำมาใช้เป็นข้ออ้างหรือเป็นเหตุผลสนับสนุน การเวนคืนที่ดินและสร้างถนนลอยฟ้าหรือไม่ เพราะหากไม่ย้ายสถานี บขส.กลับมา เหตุผลหรือข้ออ้างในการสร้างถนน เพื่อใช้เป็นทางออกให้รถโดยสาร บขส.ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือไม่มีความจำเป็น จึงอาจมีขั้นตอนหรือการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง เราในฐานะชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จึงมาร้องคัดค้านและขอความเป็นธรรมจากกระทรวงคมนาคมและสนข. ในฐานะผู้กำกับดูแล วางแผนระบบการคมนาคมของประเทศทั้งหมด

 

นางสาววินินท์อรกล่าวว่า หากรัฐบาลจะต้องนำงบประมาณจากเงินภาษีประชาชน มาใช้ทั้งเวนคืนและก่อสร้างถนนลอยฟ้า รวมๆแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 2,000 ล้าน หากจะย้ายกลับมาหมอชิต ควรเอาเงินให้ บขส.ไปซื้อที่ดิน ย้ายไปสร้างสถานีออกนอกเมืองดีกว่า ที่จะให้เข้ามากระจุกตัวอยู่กลางใจเมืองเช่นนี้ ซึ่งเป็นหลักการกระจายความเจริญและความแออัดขยายออกไปนอกเมือง ที่ทั่วโลกเขาทำกัน ในปัจจุบันและอนาคตรถไฟฟ้าวิ่งยาวออกไปนอกเมือง รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชนให้ประชาชนอยู่แล้ว เหตุใดต้องให้ประชาชนที่จะเดินทางออกต่างจังหวัดโดยรถบัส บขส.ต้องเดินทางเข้าเมืองมานั่งรถ บขส.ที่หมอชิตอีก ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีแผนที่จะให้ บขส.ออกไปซื้อที่ทำสถานีนอกเมืองแต่กลับถูกยกเลิกโครงการไป นอกจากนี้ ทางชุมชนหลังหมอชิตจะไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อกรมธนารักษ์และกระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าของโครงการสัมปทาน รวมทั้งในวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายนนี้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะเข้ายื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอศาลคุ้มครองระงับการออก พ.ร.บ.เวนคืนพื้นที่ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อไปด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง