รีเซต

สมาคมฯ แจ้งจับคนบาป สังหาร 'พลายขนุน' ลูกซองยิง พรุนทั่วร่าง 40 เม็ด

สมาคมฯ แจ้งจับคนบาป สังหาร 'พลายขนุน' ลูกซองยิง พรุนทั่วร่าง 40 เม็ด
ข่าวสด
11 มกราคม 2564 ( 15:44 )
59
สมาคมฯ แจ้งจับคนบาป สังหาร 'พลายขนุน' ลูกซองยิง พรุนทั่วร่าง 40 เม็ด

สมาคมป้องกัน การทารุณสัตว์ แห่งประเทศไทย ไม่อยู่เฉย แจ้งความเอาผิด มือยิงช้างป่ากุยบุรี 'พลายขนุน' สุดทุรน พิษบาดแผล ลูกซอง 40 เม็ด

 

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการ และผอ.สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกเศร้าใจกับกรณีที่พลายขนุน ช้างป่ากุยบุรี ถูกยิงเสียชีวิตด้วยปืนลูกซอง พบเป็นกระสุนปืนลูกซอง เบอร์ 12 (ลูก9) 40 เม็ด กระสุนปืน ขนาด .22 จำนวน 2 เม็ด และลูกปลาย จำนวน 1 เม็ด ที่บ้านท่าวังหิน ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

 

 

จากการผ่าพิสูจน์พบกระสุนในใต้เบ้าตา 2 ลูก ขาหน้าด้านซ้าย พบกระสุนในกระดูก 3 เม็ด พบกระสุนทะลุซี่โครง ซี่ที่ 7 และ ซี่ที่ 9 จำนวน 2 เม็ด และกระสุนอีก 38 เม็ด กระจายอยู่ทั่วบริเวณงวง ใต้รักแร้ และลำตัว

 

ดร.สาธิต กล่าวอีกว่า สำหรับในแง่กฎหมายขณะนี้เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เข้าไปร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อสืบหาตัวคนยิงและสาเหตุการยิงช้างพลายขนุนแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 กำหนดช้างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 127

 

ซึ่งโทษของการล่าสัตว์ป่า ค่อนข้างสูง โดยมาตรา 12 ประกอบมาตรา 89 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะเดียวกันกฎหมายก็ให้ข้อยกเว้นไว้ในมาตรา 13

 

กำหนดให้ ผู้ใดล่าสัตว์ป่าที่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัตินี้ ด้วยความจำเป็น และภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ คือเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากอันตราย หรือเพื่อสงวนหรือรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น และการล่านั้นได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ

 

ดังนั้นจากรณีดังกล่าวก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและเจตนาที่แท้จริงของผู้กระทำว่าได้กระทำไปเพื่ออะไรต่อไป นอกจากนี้ในด้านกฎหมายสมาคมฯ ยังได้เสนอให้ช้างป่าและสัตว์ป่าบางชนิดให้ได้รับการคุ้มครอง จากพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 อีกด้วย

 

 

ดร.สาธิต กล่าวต่อว่าว่า สำหรับปัญหาเรื่องช้างป่านั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่า จากการรุกรานบุกรุกของคน ในการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นแหล่งอาศัยที่ช้างเคยอยู่อาศัยมาก่อน ปัญหาแหล่งน้ำและแหล่งอาหารไม่เพียงพอสำหรับช้างป่า

 

ซึ่งประเทศไทยในขณะนี้มีช้างป่าจำนวน 3,000-3,500 ตัว ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ยิ่งนับวันยิ่งมีแนวโน้มขยายตัวและมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เคยมีผู้เชี่ยวชาญติดตาม เกี่ยวกับปัญหาคนกับช้างป่า ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ระหว่าง ปี 2555-2560

 

พบปัญหาการปะทะระหว่างคนกับช้างป่า มี 107 ครั้ง มีคนเสียชีวิต 45 คน มีช้างล้มตาย 25 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่ช้างป่าตายเพราะถูกไฟฟ้าชอร์ตและถูกยิง และในปี 2562 มีช้างป่าตาย กว่า 29 ตัว ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ของช้างป่า คือบุกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ทางการเกษตร ทรัพย์สิน และชีวิตร่างกายของประชาชนได้

 

ดร.สาธิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาช้างป่า หลายภาคส่วนพยายามศึกษาและหาทางแก้ไข โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มากมาย แต่ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่การลงมือปฏิบัติของคน หน่วยงาน ทรัพยากร ระเบียบกฎหมายและอื่น ๆ ขณะนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี

 

 

เมื่อสภาผู้แทนราษฎร โดย คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสิทธิสัตว์ ในคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้หยิบยกปัญหาช้างป่าขึ้นมา ทำการศึกษาปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อจะได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม สามารถนำสู่การปฏิบัติได้จริง ๆ

 

โดยส่วนตัวคาดหวังว่า ครั้งนี้จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่า อย่างเป็นระบบและยั่งยืน สร้างการยอมรับและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมในการแก้ไขปัญหาช้างป่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าและสร้างความเมตตาธรรมให้เกิดขึ้นกับช้างป่าอย่างแท้จริงก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง