รีเซต

ธปท.เดินหน้าหนุนSME รุกสินเชื่อสู่ธุรกิจสีเขียว

ธปท.เดินหน้าหนุนSME รุกสินเชื่อสู่ธุรกิจสีเขียว
ทันหุ้น
7 สิงหาคม 2567 ( 18:21 )
6
ธปท.เดินหน้าหนุนSME รุกสินเชื่อสู่ธุรกิจสีเขียว

#ธปท. #ทันหุ้น - ธปท.ผนึก 8 ธนาคารพาณิชย์ร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ซึ่งครอบคลุมอีก 4 ภาคส่วนคือ 1.ภาคการผลิต 2.ภาคเกษตร 3.ภาคจัดการของเสีย และ 4.ภาคการก่อสร้าง ซึ่งจะให้การสนับสนุนสินเชื่อ และเป็นที่ปรึกษา เปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว โดยคาดว่าจะเปิดรับฟังความเห็นได้ใน ไตรมาส 4/2567

 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย สามารถปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว รวมถึงมีเครื่องมือบริหารจัดการทางการเงินที่หลากหลาย อาทิตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (sustainability bond) เห็นได้จากการที่บริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิกดัชนี DJSI ถึง 26 บริษัท สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

 

อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs ยังตระหนักถึงความจำเป็น และมีความพร้อมในการปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่อยู่มาก ดังนั้น การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการปรับตัวจาก brown (ธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง) สู่ less brown หรือ Financing the Transition จึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อบริบทของประเทศไทยในขณะนี้

 

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยในหลายๆมิติ ต้องถือว่าค่อนข้าง brown เซ็กเตอร์ที่เป็นที่เซ็กเตอร์สำคัญๆในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิต ภาคการส่งออก เราก็รู้ว่ายังอยู่ในโลกเก่า หรือโลกที่ brown เยอะ และธุรกิจหลายตัว โดยเฉพาะ SMEs มีความเป็น Green ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าเราเน้นไปในเรื่อง Green เป็นหลัก นัยยะเช่นว่า สถาบันการเงินต่างๆ จะไม่ปล่อยสินเชื่อกับธุรกิจที่ brown นั้น เป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น

 

ผนึก 8 ธนาคารพาณิชย์

 

ดังนั้น ธปท. จึงร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 8 แห่งอาทิ BBL KTB KBANK TTB BAY UOB SCB และ KKP พัฒนาผลิตภัณฑ์เงินทุนให้ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจ และมีเงื่อนที่เอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจที่สำคัญ และหวังว่าโครงการฯดังกล่าว จะช่วยให้ภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะ SMEs เริ่มปรับตัวอย่างจริงจัง รวมทั้งขยายผลออกไปในวงกว้างได้

เพิ่ม 4 อุตสาหกรรม

 

นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า เมื่อปี 2566 ธปท.สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนรวม 26 หน่วยงานได้มีการจัดทำThailand Taxonomy ระยะที่ 1 มุ่งเน้นวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เฉพาะมิติด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Climate change mitigation) ใน 1.ภาคพลังงานและ 2.ภาคการขนส่ง ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดก่อน

 

ดังนั้นในปี 2567 จะมีการทำร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ซึ่งครอบคลุมอีก 4 ภาคส่วนคือ 1.ภาคการผลิต 2.ภาคเกษตร 3.ภาคจัดการของเสีย และ 4.ภาคการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเปิดรับฟังความเห็นได้ใน ไตรมาส 4/2567

 

หนุนพอร์ตสินเชื่อระยะยาว

 

นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ขยายกรอบกลุ่มอุตสาหกรรมให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อสถาบันการเงินได้ง่ายขั้น ถือเป็นปัจจัยหนุนความสามารถในเติบโตพอร์ตสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในระยะกลาง – ระยะยาว

 

อย่างไรก็ตามภาพรวมกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปี 2567 ยังคงมีปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อ ดังนั้นธนาคารพาณิชย์จึงยังคงเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ควบคู่กับการให้ความร่วมมือกับ ธปท. ในการแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) เบื้องต้นประเมินภาพกำไรสุทธิทั้งปี 2567 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไม่เติบโต แต่ฐานะยังคงแข็งแกร่งจากการตั้งสำรองผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) รองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

“ที่ผ่านมาธนาคารขนาดใหญ่ก็มีเกณฑ์การพิจารณาการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าที่มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจแต่ละช่วงเวลา ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ราว 2-3% ดังนั้นพอร์ตสินเชื่อจึงไม่สามารถเติบโตได้ดีไปกว่านี้”

 

ชูหุ้นปันผล

 

เบื้องต้นคาดการณ์กำไรสุทธิหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 7 แห่งที่มีบทวิเคราะห์ทั้งปี 2567 ที่ 198,247 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% YoY พร้อมประมาณการณกำไรสุทธิในปี 2568 เติบโตที่ 5.4% YoY โดยมีสมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อ รายได้ค่าธรรมเนียมที่ Conservative และคาดว่า Credit cost จะค่อยๆ ลดลง

 

และยังคงให้น้ำหนัก “น้อยกว่าตลาด” โดยมี TTB เป็นหุ้นเด่น ราคาเหมาะสมที่ 2.22 บาท จาก Downside ในด้านกำไรที่จำกัดจากประโยชน์ทางภาษีที่เหลืออยู่รวม 12.7พันล้านบาทและผลตอบแทนในรูปเงินปันผลที่นำสนใจที่ 6-7% ต่อปี และแนะนำ “ซื้อ” KTB ราคาเหมาะสม 19:90 บาท และ KBANK ราคาเหมาะสม 145 บาท จากความกังวลในด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลงและผลตอบแทนในรูปเงินปันปันผลที่น่าสนใจที่ 5-7% ต่อ

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง