รีเซต

หรือ 6G กำลังจะมา ? ฮ่องกงพัฒนาเสาอากาศสำหรับเทคโนโลยี 6G

หรือ 6G กำลังจะมา ? ฮ่องกงพัฒนาเสาอากาศสำหรับเทคโนโลยี 6G
TNN ช่อง16
19 ธันวาคม 2566 ( 09:04 )
30
หรือ 6G กำลังจะมา ? ฮ่องกงพัฒนาเสาอากาศสำหรับเทคโนโลยี 6G

ทีมนักวิจัยนำโดยศาสตราจารย์ชาน ชีโหว (Chan Chi-hou) จากมหาวิทยาลัยรัฐในฮ่องกง (City University of Hong Kong) ได้สร้างเสาอากาศพิเศษที่สามารถควบคุมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทั้ง 5 ด้านที่สำคัญ โดยใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ควบคุม


เสาอากาศนี้ตั้งชื่อว่า “เสาอากาศไมโครเวฟสากลเมตาเซอร์เฟส (Microwave universal metasurface antenna)” ซึ่งมันมีคุณสมบัติควบคุมความจำเป็น 5 ด้านของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบไดนามิก ได้แก่ ปรับความแรงของคลื่น (Strength), เวลา (Timing), ความถี่ (Frequency), ทิศทาง (Direction) และแม้แต่วิธีการสั่น (Vibration) ของคลื่นได้ในเวลาเดียวกันผ่านการใช้ซอฟแวร์ควบคุม นี่เป็นครั้งแรกที่มีผู้สร้างเสาอากาศที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้พร้อม ๆ กัน ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในด้านนี้


ที่มารูปภาพ CITYU


ศาสตราจารย์ชาน ชีโหว กล่าวว่า “สิ่งที่สามารถควบคุมคุณสมบัติพื้นฐานทั้งหมดของคลื่นได้ถือเป็นจอกศักดิ์สิทธิ์ (สื่อถึงความสำเร็จสูงสุด หรือสิ่งสำคัญที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา) สำหรับนักฟิสิกส์และวิศวกร”


เทคโนโลยีนี้ถือเป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ในระบบสื่อสารไร้สาย 6G ความสามารถที่สามารถควบคุมคุณสมบัติสำคัญของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้นี้ ทำให้สามารถนำไปใช้งานที่หลากหลาย เช่น การตรวจจับ การรวบรวมข้อมูล การสื่อสาร มันยังสามารถจัดการข้อมูลจำนวนมากและสามารถรักษาข้อมูลให้ปลอดภัยมากด้วย นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายโอนพลังงานแบบไร้สาย ซึ่งหมายความว่าสามารถชาร์จอุปกรณ์ได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อผ่านสาย


อีกหนึ่งคุณสมบัติที่น่าสนใจมากคือมันควบคุมทิศทางของสัญญาณได้ ซึ่งช่วยให้กระบวนการสื่อสารมีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยมากขึ้นอีกชั้นหนึ่ง


เสาอากาศไมโครเวฟสากลเมตาเซอร์เฟสนี้จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้อย่างมาก เช่น เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (augmented reality) โฮโลแกรม การสื่อสารแบบบูรณาการของเทคโนโลยี 6G ทัศนศาสตร์เชิงควอนตัม (Quantum Optics) และวิทยาศาสตร์ข้อมูลควอนตัม


ศาสตราจารย์อู๋ เกิงโป (Wu Gengbo) หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่า “เราหวังว่าเสาอากาศไมโครเวฟสากลเมตาเซอร์เฟสจะสามารถทำงานเป็นเครื่องส่งสัญญาณข้อมูลที่เรียบง่ายโดยมีต้นทุนต่ำ บูรณาการสูง และการใช้พลังงานน้อย”


งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ คอมมิวนิเคชัน (Nature Communications) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2023


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering

ที่มารูปภาพ CITYU

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง