'ดาวเทียมควอนตัม' ดวงใหม่ของจีน เริ่มเปิดใช้งานแล้ว
เมื่อวันพฤหัสบดี (28 ก.ค.) มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (USTC) เปิดเผยว่าดาวเทียมควอนตัมระดับไมโคร-นาโนของจีน ที่มหาวิทยาลัยฯ ร่วมพัฒนา ได้เข้าสู่วงโคจรที่กำหนดและเปิดดำเนินงานแล้ว
ดาวเทียมวงโคจรต่ำดังกล่าว ถูกออกแบบขึ้นเพื่อทดลองการกระจายกุญแจเข้ารหัสเชิงควอนตัม (QKD) แบบเรียลไทม์ระหว่างดาวเทียมและสถานีภาคพื้นดิน และจัดทำภารกิจตรวจสอบยืนยันทางเทคนิค โดยดาวเทียมดวงนี้ถูกปล่อยสู่อวกาศโดยจรวดขนส่งลี่เจี้ยน-1 (Lijian-1) จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อวันพุธ (27 ก.ค.) ที่ผ่านมา
มหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าดาวเทียมดวงใหม่มีน้ำหนักราว 1 ใน 6 ของโม่จื่อ (Micius) ดาวเทียมควอนตัมดวงแรกของโลกจากจีน ซึ่งหนักมากกว่า 600 กิโลกรัม
นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยฯ ชี้ว่าการสร้างเครือข่ายติดต่อสื่อสารเชิงควอนตัมที่มีประสิทธิภาพ ใช้งานได้จริง และครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการผู้ใช้งานที่เพิ่มสูง จำเป็นต้องอาศัยดาวเทียมควอนตัมต้นทุนต่ำจำนวนมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากเทคโนโลยีควอนตัมที่พบครั้งแรกในดาวเทียมโม่จื่อ
อนึ่ง ดาวเทียมข้างต้นนี้เป็นผลงานการพัฒนาร่วมโดยมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ของจีน อาทิ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) และสถาบันเทคโนโลยีควอนตัมจี่หนาน โดยมีการคาดการณ์ว่าดาวเทียมดวงใหม่จะช่วยสนับสนุนการติดต่อสื่อสารเชิงควอนตัม และส่งเสริมการพัฒนาความมั่นคงด้านข้อมูลของจีนต่อไป