รีเซต

เจาะลึก 'หนี้นอกระบบ' ปัญหาเรื้อรังสังคมไทย

เจาะลึก 'หนี้นอกระบบ' ปัญหาเรื้อรังสังคมไทย
TNN ช่อง16
28 พฤศจิกายน 2566 ( 12:20 )
57



ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แม้จะไม่ได้นับรวมตัวเลขหนี้นอกระบบเข้าไป แต่หากย้อนไปดูสถิติหนี้นอกระบบในอดีต พบว่า เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง




จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมภาคครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 


- หนี้นอกระบบคนไทยสูงขึ้นหลังโควิด-19


หนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนไทยครึ่งแรกของปี 2564 สูงถึง 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงจากช่วงก่อนโควิดในปี 2563 ที่อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท หรือ 78% 

เป็นการกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากที่หนี้นอกระบบมีแนวโน้มลดลงในปี 2563


รายละเอียดการกระจายตัวของหนี้นอกระบบภาคครัวเรือน กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่ อยู่ที่ 9.2% จากจำนวนครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ของครัวเรือนกลุ่มที่เป็นหนี้นอกระบบนี้มักจะกู้ยืมหนี้นอกระบบเพียงอย่างเดียว 


ขณะที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยทำการวิจัยเมื่อปี 2565 ว่าด้วยเรื่องหนี้นอกระบบโดยเฉพาะ 


ลงพื้นที่สำรวจ 4,800 ครัวเรือนจาก 12 จังหวัด พบว่า เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็น นายทุนนอกพื้นที่และในพื้นที่ คิดดอกเบี้ยเฉลี่ย 10-11% หรือสูงสุดเฉลี่ย 20% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด คือ 15% ต่อปี


ข้อมูลผู้กู้ยืมเงินนอกระบบ สูงที่สุด คือ ข้าราชการ เฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 118,000 บาท และพนักงานรัฐวิสาหกิจ เฉลี่ยสูงสุด 158,000 บาท สาเหตุการกู้เงิน 46.8% นำไปใช้กับค่าใช้จ่ายจำเป็น และ 41.5% นำไปลงทุนในการประกอบอาชีพ 



- ดอกเบี้ยหนี้นอกระบบสูงเป็นเท่าตัว


งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังอธิบายรูปแบบของหนี้ด้วย ว่า มี 2 รูปแบบดังนี้ 


1.หนี้เงินสด 

- เก็บเงินดอกเบี้ยรายวัน 

- บวกทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไว้ด้วยกัน 

- ส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 


ตัวอย่าง กู้เงิน 10,000 บาท หักค่าสมุด (ค่าบัญชีเงินกู้) 500 บาท หักงวดแรก 500 บาท รับเงินสุทธิ 9,000 บาท ผ่อนชำระวันละ 500 บาท จำนวน 24 วัน คิดเป็นเงิน 12,000 บาท ถ้าลูกหนี้ผิดนัด คิดค่าปรับโดยการเพิ่มดอกเบี้ยในวันที่ขาดส่ง หรือ เพิ่มค่าทวงถาม



2. เงินกู้ในลักษณะดอกลอย 

- คือ เงินกู้ที่มีการเก็บดอกเบี้ยทุกวันจนกว่าจะนำเงินต้นมาคืนเป็นก้อน 

- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะอยู่ที่ร้อยละ 5-20 


ตัวอย่างกู้เงิน 10,000 บาท เก็บดอกเบี้ยวันละ 500 บาท จำนวน 24 วัน รวมเป็น 12,000 บาท รวมกับเงินต้น 10,000 บาท ถ้าลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดก็จะต้องใช้หนี้รวมทั้งหมด 22,000 บาท แต่ถ้าไม่สามารถใช้หนี้ได้ตามกำหนดก็ต้องชำระเฉพาะดอกเบี้ยต่อไป 


- หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งเกือบเท่าจีดีพี


ล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพิ่งแถลงตัวเลขหนี้ครัวเรือน ระบุว่า ไตรมาส 2 ปี 2566 (ก.ค.-ก.ย.) หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท เกือบเท่า GDP ของประเทศ  เพิ่มขึ้น 3.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การขยายตัวเป็นไปเพื่ออสังหาริมทรัพย์และเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล หนี้ครัวเรือนที่สภาพัฒน์ประกาศนี้ไม่รวมถึง หนี้นอกระบบเพราะไม่ได้มีการนับสถิติ 


นอกจากนั้นยังมีข้อมูลความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนพบว่า ลดลงเล็กน้อย โดยหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล คิดเป็นมูลค่า 147,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 2.68% 

สาเหตุหลักของการเกิดหนี้สินก็มาจากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และหนี้นอกระบบก็มาจากการไม่สามารถเข้าถึงหนี้ในระบบได้ เป็นปัญหาที่สะสมมานานและส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลต้องประกาศให้การแก้หนี้นอกระบบ เป็นวาระแห่งชาติในวันนี้


เรียบเรียง : นนท์สมร ศานติวงศ์สกุล

ภาพ : TNNOnline  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง