รีเซต

PTLลงทุนฟิล์มชนิดพิเศษ บุกตลาดสหรัฐรับดีมานด์

PTLลงทุนฟิล์มชนิดพิเศษ บุกตลาดสหรัฐรับดีมานด์
ทันหุ้น
22 กุมภาพันธ์ 2567 ( 11:17 )
33
PTLลงทุนฟิล์มชนิดพิเศษ บุกตลาดสหรัฐรับดีมานด์

#PTL #ทันหุ้น – PTL ประกาศเดินหน้าลงทุนสายการผลิตแผ่นฟิล์ม BOPET ชนิดบาง และ Offline Coater ในสหรัฐ กำหนดCOD ราวเดือนกันยายน 2567 นี้ มุ่งเจาะฐานตลาดฟิล์มชนิดพิเศษที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์, แบตเตอรี และอุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ย้ำความต้องการสินค้าทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

 

นายอมิต  ปรากาซ  กรรมการผู้จัดการ  บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL เปิดเผยว่า บริษัทประเมินภาพรวมธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Packaging) อุตสาหกรรม (Industrial) และอุปกรณ์ไฟฟ้า (Electrical)เริ่มทยอยฟื้นตัว หนุนจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ฟิล์มพลาสติก (Demand) ในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะในอินเดีย, อินโดนีเซีย และไทยฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

 

ขณะที่ปริมาณสินค้าค้างสต๊อก (Dead Stock) ในทวีปยุโรป และอเมริกาก็เริ่มคลี่คลายลง ซึ่งจะนำไปสู่การสั่งสินค้า (Restocking) ในระยะอันใกล้นี้ สะท้อนจากผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/2566/2567 (ต.ค. – ธ.ค. 66) บริษัทสามารถพลิกกลับมาทำกำไร 75,657 ล้านบาทจากขาดทุน 43,510 ล้านบาทในงวดไตรมาส 3/2565

 

ขยายลงทุน

 

ดังนั้นบริษัทจึงยังคงแผนการโครงการลงทุนสายการผลิตแผ่นฟิล์ม BOPET ชนิดบาง และ Offline Coater ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นทั้ง 2 โครงการมีกำหนดเดินเครื่องทดสอบเชิงพาณิชย์ (COD) ราวไตรมาส 2 ปี 2567/2568 (ก.ย. 22567) โดยเงินลงทุนของทั้ง 2 โครงการอยู่ที่ประมาณ 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งทางบริษัทใช้เงินกู้ระยะยาววงเงิน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา และกระแสเงินสดในบริษัทย่อยที่สหรัฐอเมริกา

 

รวมถึงเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทจากบริษัทย่อยในตุรกี โดยทยอยลงทุนตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้บริษัทยังคงมุ่งขยายฐานเข้าสู่ตลาดฟิล์มเฉพาะเจาะจง (Specialty Film) อาทิ ฟิล์มที่ใช้ภายในแบตเตอรียานยนต์ไฟฟ้า (EV Car), เซลล์โฟโตวอลเทอิก (Photovoltaic cell)ที่ใช้ในอุตสาหกรรมแผงโซลาร์ ฯลฯ ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต

 

นอกจากนี้บริษัทยังคงติดตามสถานการณ์รัฐภูมิศาสตร์ในพื้นที่ทะเลแดงอย่างใกล้ชิด โดยในระยะสั้นสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าของบริษัททั้งในทวีปยุโรป และอเมริกา เนื่องจากความล่าช้าด้านการขนส่งสินค้าทางเรือ

 

ดีมานด์หนุนสินค้า

 

สำหรับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4/2566/2567 (มกราคม – มีนาคม 2567) ยังมีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 3/2566/2567 ที่ผ่านมา เนื่องจากทั้งปัจจัยหนุน และปัจจัยกดดันโดยเฉพาะเศรษฐกิจในจีนที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่หลายฝ่ายประมาณการ

 

อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงประเมินว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโดยรวม ทั้งหมวดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Packaging), อุตสาหกรรม (Industrial), และอุปกรณ์ไฟฟ้า (Electrical) เริ่มมีสัญญาฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยแนวโน้มความต้องการใช้สินค้า (Demand) ในทวีปยุโรป, อินโดนีเซีย, อินเดียเริ่มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการสามารถระบายสต๊อกส่วนเกิน (Dead Stock) ได้แล้ว และจะเริ่มกลับมาสั่งผลิตสินค้าอีกครั้ง

 

“บริษัทประเมินว่าความต้องการสินค้าจะขยายตัวได้ราว 4-4.5% ขณะที่กำลังการผลิตจะอยู่ระหว่าง 4.8-5% และจะกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลในอนาคต อย่างไรก็ตามในไตรมาสนี้จะยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Dead Stock กดดันศักยภาพการทำกำไร (Margin) อย่างมีนัยสำคัญ”

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง