รีเซต

ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักโคราช ยังวิกฤติ หากภายใน 2 เดือนฝนทิ้งช่วง ชาวโคราชลำบากแน่

ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักโคราช ยังวิกฤติ หากภายใน 2 เดือนฝนทิ้งช่วง ชาวโคราชลำบากแน่
มติชน
1 มิถุนายน 2563 ( 10:13 )
252

 

สถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดนครราชสีมายังวิกฤติแม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดยังมีน้อย โดยล่าสุดพบว่า 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง สภาพน้ำปัจจุบัน มีปริมาตรน้ำเหลืออยู่ที่ 90.25 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 28.70% แต่เป็นน้ำใช้การได้เพียง 67.53 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23.15% เท่านั้น ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง มีปริมาตรน้ำเหลือน้อยแค่ 12.77 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 8.24% และเป็นน้ำใช้การได้เพียง 12.05 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 7.81% เท่านั้น ส่วนอ่างเก็บน้ำมูลบน ปริมาตรน้ำเหลืออยู่ที่ 25.57 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 18.14% แต่เป็นน้ำใช้การได้เพียง 18.57 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 13.86 % และอ่างเก็บน้ำลำแชะ มีปริมาตรน้ำเหลือ 39.18 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 14.25 % แต่เป็นน้ำใช้การได้เพียง 32.18 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 12.01 % เท่านั้น


 


 

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 อ่างฯ เหลือน้ำรวม 59 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 17.82 % แต่เป็นน้ำใช้การได้ 34.62 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 11.31 % ทำให้ปริมาตรน้ำภาพรวม 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง รวมเหลือน้ำ 226.82 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 18.64 % และเป็นน้ำใช้การได้เพียง 164.97 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 14.29 % เท่านั้น ซึ่งโครงการชลประทานนครราชสีมา ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนเข้าปี 2563 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 30% ทางกรมชลประทาน ได้เร่งสนับสนุนการแก้ปัญหาภัยแล้งของจังหวัดฯ เพราะแล้งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 เกือบ 3 ปีติดกันแล้ว


 


 

ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์สภาพอากาศในฤดูฝนปีนี้ว่า จังหวัดนครราชสีมา จะมีฝนตกค่าเฉลี่ยทั้งหมดอยู่ที่ 1,170 มิลลิเมตร แต่อาจมีฝนทิ้งช่วงในปลายเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2563 จึงเร่งกำลังรณรงค์ประชาสัมพันธ์พี่น้องเกษตรกรให้ติดตามข่าวสารข้อมูลสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดเพราะในช่วงฝนทิ้งช่วง พื้นที่เกษตรเขตชลประทานต้องใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำมาเสริมเพื่อให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกทดแทนช่วงที่ฝนที่หายไป ทางอ่างเก็บน้ำก็ต้องมีน้ำสำรองไว้ส่งจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และช่วยภาคเกษตรในเขตชลประทาน กับสำรองน้ำไว้รับมือไม่ให้ประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำเป็นปีที่ 3


 


 

ซึ่งคาดหวังว่า ปีนี้จะมีน้ำกักเก็บในแต่ละอ่างเก็บน้ำไม่น้อยกว่า 50 % ดังนั้น ถ้าฝนตกปกติ เกษตรกรก็ต้องใช้น้ำฝน ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ใช้น้ำฝนเป็นหลักอยู่แล้ว เกษตรกรต้องคำนึงถึงปัญหาฝนทิ้งช่วงด้วย เพื่อไม่ให้พืชผลเกษตรเสียหาย โดยอาจยกคันนาให้สูงขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำในนาข้าว หรือเลื่อนการเพาะปลูกออกไปให้พ้นฝนทิ้งช่วงไปก่อน แล้วค่อยเริ่มทำ เช่นปลูกข้าวเบา ข้าวหอมมะลิ ข้าวไวต่อแสง ที่สามารถเพาะปลูกได้ในห้วงระยะเวลาสั้นๆ และทันเก็บเกี่ยวในห้วงเดือนธันวาคมที่เข้าฤดูหนาวแล้ว


 

ซึ่งหากภายใน 2 เดือนเกิดฝนทิ้งช่วงตามที่คาดการณ์ไว้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2563 เชื่อว่า ชาวโคราชต้องลำบากแน่ เพราะปริมาณฝนตกสะสม ตั้งแต่ต้นปี 2563 อยู่ที่ 233.4 มิลลิเมตร หรือ 22.50 % เท่านั้น แต่มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ แค่ 43.79 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือแค่ 3.52 % เท่านั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง