รีเซต

สำรวจ 'ป่าชุมชนบ้านบุญเรือง' น้ำไม่หลากมา 2 ปี เหตุเขื่อนจีนกั้นน้ำโขง

สำรวจ 'ป่าชุมชนบ้านบุญเรือง' น้ำไม่หลากมา 2 ปี เหตุเขื่อนจีนกั้นน้ำโขง
ข่าวสด
17 สิงหาคม 2564 ( 15:10 )
51
สำรวจ 'ป่าชุมชนบ้านบุญเรือง' น้ำไม่หลากมา 2 ปี เหตุเขื่อนจีนกั้นน้ำโขง

 

สำรวจ 'ป่าชุมชนบ้านบุญเรือง' น้ำไม่หลากเข้าตามวัฏจักรฤดูกาลมา 2 ปี ทำพันธุ์สัตว์น้ำและการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชมีปัญหา เหตุเขื่อนจีนกั้นน้ำโขง

 

 

วันที่ 17 ส.ค.64 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อเก็บข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าภาย หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า ภายหลังเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันทำให้ปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำอิงมีมาก และเอ่อสูงท่วมตลิ่งเข้าไปยังป่าชุ่มน้ำที่ชุมชนดูแลรักษาแห่งนี้

 

 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวนั่งเรือพายโดยมีชาวบ้านเป็นฝีพาย พาลัดเลาะเข้าไปในป่าบ้านบุญเรืองที่ยังมีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นอยู่หนาแน่น โดยน้ำได้ท่วมพื้นที่ป่าเป็นบางส่วนโดยมีระดับน้ำความสูงกว่า 1 เมตร

ทั้งนี้ป่าริมแม่น้ำอิงมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ ต้นไม้ต่างๆ เช่น ต้นส้มแสง ต้นข่อย สามารถแช่อยู่ในน้ำที่หลากตามฤดูกาลได้นานหลายเดือน ขณะที่ฝูงปลานานาชนิดจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำอิง รวมทั้งห้วยหนองคลองบึงต่างๆ ได้ว่ายเข้าไปหากินและขยายพันธุ์ในป่าชุ่มน้ำ เนื่องจากมีอาหารตามธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นลูกไม้ต่างๆ หรือเหล่าแมลงและไส้เดือนที่หนีน้ำขึ้นไปอยู่ตามเนินดินและกิ่งไม้

 

 

นายพิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค ชาวบ้านบุญเรือง และผู้ประสานงานสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงตอนล่าง กล่าวว่า น้ำหลากเข้าป่าเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ แต่เป็นการท่วมป่าเพียงระยะสั้นๆ แค่ไม่เกิน 1-2 คืน แล้วก็เริ่มลดระดับลง ทำให้ความหลากหลายในพื้นที่จึงไม่ยังมากเท่าที่ควร โดยน้ำไม่ได้หลากเข้าป่าบุญเรืองตามที่ควรจะเป็นตามวัฏจักรฤดูกาลมา 2 ปีแล้ว ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำและการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชมีปัญหา

 

 

สาเหตุเกิดจากน้ำต้นทุน จากกว๊านพะเยา มีปริมาณน้อยลง ขณะที่แม่น้ำโขงก็มีปริมาณน้อยเช่นกัน โดยขณะนี้แม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำสูงเพียงราว 2.9 เมตร ซึ่งถือว่าต่ำมากในฤดูน้ำหลาก แทนที่จะสูง 4-6 เมตรเหมือนฤดูฝนตามธรรมชาติในอดีต

 

 

“หลายปีที่ผ่านมาปลาหลายชนิดที่ชาวบ้านเคยหาได้ก็หายไป เช่น ปลากดคังตัวใหญ่ๆ และปลาอีกหลายชนิดที่หายไปตั้งแต่ปี 2541 ปลาบางชนิดที่ชาวบ้านเคยจับได้ตัวใหญ่ๆ ตอนนี้จับได้ตัวเล็กลง เพราะความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ เราเคยเก็บข้อมูลปลาในแม่น้ำอิงที่มีพันธุ์ปลาราว 280 ชนิด แต่ตอนนี้หลายชนิดหายไปแล้ว แถมมีปลาต่างถิ่นผสมเข้ามามากขึ้น และยังมีเอเลี่ยนสปีชี เช่น ปลาซัคเกอร์ เช่นเดียวกับการขุดลอกหนองของทางการให้กลายเป็นสระน้ำ ทำให้พืชพันธุ์ชายน้ำหายไป พันธุ์ปลาในท้องถิ่นก็หายไปด้วย เป็นการทำลายระบบนิเวศ” ชาวบ้านบุญเรือง กล่าว

นายพิชเญศพงษ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการฟื้นฟูนั้น จริงๆ แล้วป่าสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ แต่เราต้องรักษาไม้พื้นถิ่นไว้และการกระจายเมล็ดพันธุ์ต้องมองให้ลึกถึงอาหารของนกและอาหารของสัตว์ ในป่าบุญเรืองนอกจากเราคำนึงถึงวิถีวัฒนธรรมแล้ว ยังให้วัวควายเป็นตัวกระจายเมล็ดพันธุ์ รวมถึงผึ้งที่กระจายเกสรซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในระบบนิเวศ

ขณะที่ นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่าปรากฎการณ์น้ำเข้าป่าบุญเรืองและป่าริมแม่น้ำอิงทำให้เห็นถึงระบบนิเวศของป่าชุ่มน้ำริมแม่น้ำอิง โดยปกติแล้วเมื่อแม่น้ำโขงหลากและมีปริมาณน้ำมาก ทำให้เกิดการไหลย้อนกลับไปยังแม่น้ำอิงและแม่น้ำสาขาต่างๆ เกิดระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ

 

 

แต่สิ่งที่เห็นในวันนี้เกิดจากปริมาณน้ำในแม่น้ำอิงที่ไหลผ่านป่าและเอ่อสูงขึ้นเพราะปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกหนัก แต่เป็นการหลากเข้าท่วมป่าเพียงระยะสั้นๆ เพราะปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงไม่สูงพอที่จะไหลย้อนกลับเนื่องจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน 11 เขื่อน ในประเทศจีน ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศลำน้ำสาขาที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงอย่างน่ากังวลใจ

 

 

หากต้องการให้ระบบนิเวศเหล่านี้ฟื้นคืนมา รัฐบาลไทยต้องหารือกับทางการจีนถึงเรื่องการจัดการเขื่อนตอนบนของแม่น้ำโขงโดยเฉพาะการทำให้น้ำไหลตามกลไกของธรรมชาติตามฤดูกาลให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง เป็น 1 ใน 26 แห่งที่เป็นระบบนิเวศเฉพาะริมแม่น้ำอิงโดยมีเนื้อที่กว่า 3 พันไร่ เคยถูกเสนอจากรัฐบาลให้เปลี่ยนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้นักลงทุนเข้ามาใช้ประโยชน์ แต่ได้รับการต่อต้านจากชุมชนเนื่องจากเป็นป่าที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กระทั่งรัฐบาลยอมถอย

 

 

และเมื่อปี 2563 ป่าผืนนี้ได้รับรางวัล Equator Prize เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกประจำปี จากโครงการพัฒนาของสหประชาชาติ (UNDP) และปัจจุบันป่าผืนนี้และป่าริมแม่น้ำอิงกำลังถูกเสนอชื่อให้เป็นขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุ่มน้ำ (Wetlands) ตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention)

 

 

อนึ่ง เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2564 กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทำหนังสือ ถึงคณะทำงานร่วมของกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง (LMC) จากกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม พร้อมสำเนาถึงสำนักเลขาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรน้ำแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เพื่อแจ้งเตือนการลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิงหง

ในหนังสือดังกล่าวมีสาระสำคัญระบุว่า ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากสถานีไฟฟ้าพลังน้ำจิงหง (Jinghong Hydropower) จะค่อยๆ ลดลงจาก 900-1,300 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 700 ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม- 30 สิงหาคม แม้ต่อมาจะมีรายงานว่ามีการยกเลิกแผนดังกล่าว แต่ก็พบว่าปริมาณน้ำแม่น้ำโขง บริเวณพรมแดนไทยลาว อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ลดลงอย่างมากผิดฤดูกาล และมีความผันผวน แม้จะมีฝนตกมากในช่วงนี้ก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง