รีเซต

เงินบาทอ่อนค่าทุบสถิติครั้งใหม่ 16 ปี รอบนี้ใครได้-ใครเสีย ?

เงินบาทอ่อนค่าทุบสถิติครั้งใหม่ 16 ปี รอบนี้ใครได้-ใครเสีย ?
TNN ช่อง16
21 กันยายน 2565 ( 10:54 )
106

เงินบาททำสถิติอ่อนค่าในรอบ 16 ปี หลุดระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางทั่วโลกต้องพาเหรดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อรับมือกัยเงินเฟ้อ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ที่ล่าสุดมองกันว่าอาจต้องเร่งสปีดปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้ถึง 1% จากเดิมที่ตลาดคาดว่าจะปรับขึ้น 0.75 % หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์


เช่น ยอดค้าปลีก(Retail Sales) เดือนสิงหาคม ที่พลิกกลับมาขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า จากที่หดตัว 0.4% ในเดือนกรกฎาคม และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก(Initial Jobless Claims) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 213,000 ราย เพิ่มโอกาสที่เฟดใช้นโยบายดอกเบี้ยที่ตึงตัว หลังเงินเฟ้อยังพุ่งขึ้นไม่หยุด


นอกจากนี้ risk sentiment ของค่าเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียแย่ลง หลังค่าเงินหยวนปรับอ่อนค่าขึ้นเหนือระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ ผสมโรงกับการที่ผู้ประกอบการไทยมีการนำเข้าทองคำมากขึ้น หลังจากราคาปรับตัวลดลง ส่งผลให้มีแรงซื้อเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นจนทำให้บาทอ่อนแบบรวดเร็ว ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลดีต่อผู้ส่งออก แต่ก็ส่งผลเสียต่อผู้นำเข้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน


เมื่อต้องเผชิญกับการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทในรอบนี้ ผู้กำหนดนโยบายอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกมายืนยันว่ามีการติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ จนเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและการเติบโตของภาคเศรษฐกิจไทย


ทั้งนี้ นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องของดอกเบี้ยเฟด และความเป็นไปของค่าเงินหยวนแล้ว อีกปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องจับตากันต่อเนื่อง คือทิศทางเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบมายังเศรษฐกิจไทย และอาจกดดันให้เงินบาทยิ่งอ่อนค่าเพิ่มไปอีกได้

    

โดยธนาคารโลก(World Bank) ออกมาตอกย้ำว่าเศรษฐกิจโลกอาจกำลังเข้าใกล้สู่ภาวะถดถอย(Recession) ในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อาทิ สหรัฐ จีน และสหภาพยุโรป(อียู) ได้ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง บวกกับธนาคารกลางทั่วโลกต่างทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพร้อมกันเพื่อสกัดเงินเฟ้อให้อ่อนตัวลง


หากประเทศคู่ค้าหลักของไทย อาทิ จีน สหรัฐ เผชิญกับภาวะ Recession ก็อาจส่งผลกระทบต่อมายังเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคาดจีดีพีโลกปี 2566 มีโอกาสโตเพียง 0.5% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 3%

    

แต่ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ยังมีความหวังจากการท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัว หลังการเปิดประเทศเต็มสูบ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) คาดการณ์ว่าภายในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยราว 10 ล้านคน 


หลังจากในช่วง 8 เดือนแรกของปี มีนักท่องเที่ยว 4.5 ล้านคน  และช่วงที่เหลือ 4 เดือน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ย 1.37 ล้านคน/เดือน หรือคิดเป็นเม็ดเงิน  6.85หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจจะหนุนดุลบริการให้กลับมาเป็นบวก และผลักดันให้เงินบาทกลับมาแข็งได้ ในช่วงที่ดุลการค้าจากที่เคยเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาจจะแผ่วลงหากเศรษฐกิจโลกถดถอยจริง


จากการอ่อนค่าของเงินบาทในขณะนี้ หากจะมองหาผู้ที่ได้รับประโยชน์ แน่นอนว่าคือกลุ่มผู้ส่งออก เพราะมีรายได้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ ซึ่งจะแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ขณะที่คนทํางานในต่างประเทศ ที่มีรายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศ ก็จะแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้นเช่นกัน รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินสกุลต่างประเทศ ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาท

    

ส่วนกลุ่มที่เสียประโยชน์จากเงินบาทอ่อน คือกลุ่มผู้นําเข้า ที่ต้นทุนการนําเข้าสินค้าจะสูงขึ้น เพราะราคาสินค้าจากต่างประเทศแพงขึ้น เช่นเดียวกับผู้ลงทุน ที่ต้องนําเข้าสินค้าต้นทุนแพงขึ้น เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ ขณะที่ประชาชนต้องซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศแพงขึ้น และผู้ที่มีหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ จะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น เพราะใช้เงินบาทมากขึ้นในการชําระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ


ดังนั้นในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวน จากปัจจัยลบต่างประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้ ภาคเอกชนควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อไม่ให้บาดเจ็บจากการลงทุนมากเกินไป ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงและไม่แน่นอนสูง...



ภาพประกอบ  ธนาคารกสิกรไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง