GISTDA เผยจุดความร้อนไทยกลับมาสูงอีกพบถึง 1,352 จุด อีสานจมฝุ่น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, กรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น ‘เช็คฝุ่น’
เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 พบ 26 จังหวัด มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีส้ม ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่พบโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ โดย 5 อับดับแรก คือ นครพนม 69.7 ไมโครกรัม หนองคาย 65.1 ไมโครกรัม อำนาจเจริญ 62.7 ไมโครกรัม มุกดาหาร 59.1 ไมโครกรัม และ ยโสธร 55.1ไมโครกรัม
ทั้งนี้ จากข้อมูลจุดความร้อนที่รายงานโดย GISTDA เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศกลับมาสูงอีกครั้งสูงถึง 1,352 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 499 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 387 จุด พื้นที่เกษตร 223 จุด พื้นที่เขต สปก. 133 จุด ชุมชนและอื่นๆ 101 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 9 จุด โดยจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรก กาญจนบุรี 148 จุด ตาก 113 จุด และ ชัยภูมิ 113 จุด
ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้านพบจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่พม่า 2,722 จุด ตามด้วยกัมพูชา 1,235 จุด ลาว 1,210 จุด และ เวียดนาม 607 จุด
GISTDA ยังเปิดข้อมูล 10 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟป่าคาดว่าสูงกว่า 1 ล้านไร่ ระหว่างวันที่ 19 - 25 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่ามี ได้แก่พื้นที่จังหวัด ตาก ลำปาง เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และ กำแพงเพชร โดยส่วนใหญ่จะเกิดในเขตพื้นที่เกษตร พื้นที่เขต สปก. พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ สาเหตุอาจเกิดจากการจุดไฟเผาเพื่อหาของป่า หรือการเผาก่อนเตรียมการเพาะปลูก หรือการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น
.
โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปวางแผนเพื่อการจัดการเชื้อไฟ และจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลจาก: GISTDA
ภาพจาก: AFP