รีเซต

เปิดประวัติแซม แบงก์แมน-ฟรายด์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง FTX ที่ถูกจำคุกในเรือนจำบาฮามาส

เปิดประวัติแซม แบงก์แมน-ฟรายด์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง FTX ที่ถูกจำคุกในเรือนจำบาฮามาส
TNN ช่อง16
16 ธันวาคม 2565 ( 09:00 )
109
เปิดประวัติแซม แบงก์แมน-ฟรายด์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง FTX ที่ถูกจำคุกในเรือนจำบาฮามาส

ผู้ก่อตั้ง FTX โดนจับกุมแล้วที่ บาฮามาส


เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สำนักอัยการสูงสุดของสหรัฐฯ ยืนยันว่า ตำรวจบาฮามาสได้บุกจับนายแซม แบงก์แมน-ฟรายด์ (Sam Bankman-Fried) ผู้ก่อตั้งบริษัท เอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ที่บ้านพักของเขาในบาฮามาส โดยทางการบาฮามาสระบุว่า ได้รับคำร้องอย่างเป็นทางการจากทางการสหรัฐฯ หลังจากอัยการสหรัฐยื่นฟ้องคดีอาญา และส่งต่อคดีให้รัฐบาลบาฮามาสดำเนินการ


สำหรับแซม แบงก์แมน ฟรายด์ (Sam Bankman-Fried) ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มเทรดคริปโทฯ ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ถูกจับกุมขณะที่เหตุการณ์การล่มสลายของบริษัทเอฟทีเอ็กซ์เมื่อเดือนที่แล้ว กลายเป็นข่าวกระฉ่อนโลกการเงิน หลังจากบริษัทเอฟทีเอ็กซ์ยื่นขอล้มละลายในสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ใช้จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงเงินในระบบแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ 


TNN Tech จะขอพาทุกคนไปรู้จักกับชายหนุ่มอายุน้อย อดีตพ่อมดการเงินผู้มีรายได้หลักหมื่นล้าน แต่ต้องมีจุดจบ ถูกคุมขังในเรือนจำที่ได้ชื่อว่าติดอันดับแย่ที่สุดในโลก


 ที่มาของรูปภาพ Reuters

แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ คือใคร

 

แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ ศึกษาจบปริญญาตรีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที (MIT) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ โดยเขาศึกษาในสาขาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์  หลังจากเรียนจบแบงก์แมน-ฟรายด์ ตัดสินใจเข้าสู่วงการธนาคาร 


จากนั้น เขาเรียนการเทรดหุ้นโดยเข้าไปทำงานที่บริษัท เจน สตรีท (Jane Street Capital) ในนิวยอร์กอยู่พักหนึ่ง เขาก็เริ่มเบื่อหน่ายกับโลกของหุ้น และหันไปลองทดลองเทรดบิตคอยน์ (Bitcoin) เขาสังเกตเห็นมูลค่าที่แตกต่างกันของเหรียญบิตคอยน์ในแต่ละแพลตฟอร์มที่ใช้ในการเทรด จึงเริ่มการซื้อบิตคอยน์จากที่หนึ่งในราคาต่ำกว่า แล้วนำไปขายที่อื่นเพื่อผลกำไรจากส่วนต่างของมูลค่า


หลังจากทำกำไรจากการขายเอาส่วนต่างได้สักพัก เขาจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย ก่อตั้งธุรกิจชื่อ อะลาเมดา รีเสิร์ช (Alameda Research) ขึ้น ซึ่งพวกเขาใช้เวลาหลายเดือนในการทำธุรกรรมการเงินข้ามพรมแดนกับธนาคารให้ได้กำไรมากที่สุด และเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และในที่สุด ธุรกิจของ แบงก์แมน-ฟรายด์ ทำเงินได้ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน


แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีหมื่นล้านแบบเต็มตัวในปี 2021 ในตอนที่เขามีอายุเพียง 29 ปี เป็นผลจากบริษัทแห่งที่ 2 ของเขา ที่มีชื่อเสียงในโลกคริปโท คือ เอฟทีเอ็กซ์ ซึ่งต่อมากลายเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในโลก ถือเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการที่มีการเทรดเป็นมูลค่า 10,000-15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐทุกวัน เป็นรองเพียงไบแนนซ์ (Binance) แพลตฟอร์มเทรดคริปโทเคอร์เรนซีอันดับ 1 ของโลก และช่วงต้นปี 2022 บริษัท FTX ทะยานสู่มูลค่ามากถึง 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.11 ล้านล้านบาท 



ที่มาของรูปภาพ Nas Daily 


แบงก์แมน-ฟรายด์ยังไปปรากฎตัวในสื่อหลายต่อหลายครั้ง เช่นในวิดีโอของแนส เดลี (Nas Daily) วิดีโอครีเอเตอร์ชื่อดัง โดยในยามปรากฎตัวออกสื่อ เขาจะมีภาพลักษณ์สมถะ เรียบง่าย ติดดิน ยกตัวอย่างจากชื่อวิดีโอดังกล่าว ที่ระบุไว้ว่า 'เศรษฐีหมื่นล้านที่ใจกว้างที่สุดในโลก'  โดยท่อนหนึ่งในวิดีโอ แบงก์แมน-ฟรายด์กล่าวว่า “ผมอยากรวย เพื่อที่จะได้เอาเงินทั้งหมดไปบริจาคให้กับมูลนิธิการกุศล” 

 

จุดเริ่มต้นสู่จุดจบของ FTX


ก่อนนี้บริษัท เอฟทีเอ็กซ์ ถือเป็นผู้ให้บริการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก มีการซื้อขายเงินคริปโทเคอร์เรนซีหมุนเวียนเป็นจำนวนกว่า 3 แสนล้านบาททุกวัน 


แต่เหตุการณ์เริ่มต้นจากสำนักข่าวคอยน์เดส (CoinDesk) ที่เผยแพร่บทความด้านงบดุลของบริษัท อะลาเมดา รีเสิร์ช ที่ปัจจุบันเป็นบริษัทย่อยของเอฟทีเอ็กซ์ ว่า งบการเงินของทางบริษัท มีสินทรัพย์ 14,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้สินถึง 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินทรัพย์กว่า 1 ใน 3 อยู่ในรูปของเหรียญดิจิทัล FTT คิดเป็นเงินกว่า 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ข่าวนี้ทำให้นักวิเคราะห์ด้านตลาดคริปโทฯ ตั้งข้อสังเกตถึงงบดุลของ อะลาเมดา รีเสิร์ช ว่า ไม่ใช่สินทรัพย์อิสระอย่างที่แพลตฟอร์มคริปโทเคอเรนซีควรเป็น  แต่กลับยึดโยงอยู่กับเงินดิจิทัลที่บริษัทแม่ FTX สร้างขึ้นมา



ที่มาของรูปภาพ Reuters


ช่วงหนึ่ง บริษัทไบแนนซ์ คู่แข่งหลักของเอฟทีเอ็กซ์ ประกาศว่า สนใจจะซื้อบริษัทแห่งนี้ ก่อนจะล่าถอยไป โดยให้เหตุผลว่า ได้รับรายงานหลายฉบับถึงการบริหารเงินทุนลูกค้าที่ผิดพลาด รวมถึงการสอบสวนของทางการสหรัฐฯ ที่ทำให้ต้องตัดสินใจล้มเลิกดีลนี้


และในที่สุด บทชีวิตที่หนักหนาก็มาเยือน เมื่อ อย่าง ไบแนนซ์ (Binance) ประกาศขายเหรียญโทเคนคริปโทที่เชื่อมโยงกับ FTX ทั้งหมดในอีกไม่กี่วันต่อมา โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารไบแนนซ์ จางเผิง เจ้า (Changpeng Zhao) โพสต์ทวิตเตอร์ (Twitter) ถึงผู้ติดตามกว่า 7.5 ล้านคนของเขาว่า ทางบริษัทจะขายเงินดิจิทัลเหล่านี้จากประเด็นอื้อฉาวที่เกิดขึ้น


ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นสำคัญของเหตุการณ์กระฉ่อนโลกครั้งนี้ คือรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานระบุว่า แบงก์แมน-ฟรายด์ สร้าง แบ็คดอร์ (Backdoor) หรือโค้ดแฝงในบัญชีของเอฟทีเอ็กซ์ ซึ่งทำให้เขาสามารถแก้ไขบันทึกทางการเงินของบริษัทโดยไม่พบข้อผิดพลาดทางบัญชี 


ยังมีรายงานว่าแบงก์แมน-ฟรายด์ ใช้แบ็คดอร์เพื่อโอนเงินของลูกค้าเอฟทีเอ็กซ์ มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ไปยังบริษัทอะลาเมดา รีเสิร์ช ซึ่งเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ (กองทุนที่รวบรวมเงินจากผู้ลงทุนที่ไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งพร้อมที่ให้นำไปบริหารให้ได้กำไรสูงสุดในระยะเวลาน้อยที่สุด) และตอนนี้เงินถูกโอนย้ายไปอย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่แบงก์แมน-ฟรายด์ปฏิเสธว่าไม่มีความรู้เรื่องแบ็คดอร์ ทั้งนี้ เขายังอ้างว่า “ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเขียนโค้ดทำยังไง”

 

การที่ไบแนนซ์เทขายเงินคริปโทของเอฟทีเอ็กซ์ ทำให้ผู้ใช้ตื่นตระหนกและถอนเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐออกจากเอฟทีเอ็กซ์ จนราคาเหรียญเอฟทีที (FTT) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลของเอฟทีเอ็กซ์ร่วงหนัก และแบงก์แมน-ฟรายด์ ได้สั่งระงับการถอนเงินออก และพยายามตระเวนระดมเงินมาช่วยเหลือบริษัทของเขาเอง  ทำให้มีผู้ฝากเงินอย่างน้อยหนึ่งล้านรายไม่สามารถเข้าถึงเงินของพวกเขาได้ 


ไม่กี่วันต่อมา บริษัทเอฟทีเอ็กซ์ถูกประกาศสถานะล้มละลาย และ แบงก์แมน-ฟรายด์ ออกมาทวีตว่า “ผมขอโทษจริง ๆ ที่เรามาถึงจุดนี้…ผมหวังว่าเราจะฟื้นตัวกลับมาได้”


หลังจากนั้น แบงก์แมน-ฟรายด์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนักจากบ้านพักของเขาในบาฮามาส ช่วงต้นเดือนธันวาคม โดยยอมรับว่า เขาบริหารงานผิดพลาด แต่ยืนยันว่าเขาไม่ได้มีเจตนาฉ้อโกง ซึ่งเขากล่าวว่า "ผมไม่ได้เก่งเหมือนที่ตัวเองคิดไว้”


“ผมไม่เคยโกงใครเลย…ผมเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น...ชัดเจนว่าผมได้ทำผิดพลาดมาก ๆ ผมยอมแลกทุกอย่างให้ได้กลับไปแก้ไข…” แบงก์แมน-ฟรายด์ กล่ายในการประชุมดีลบุ๊ก (Dealbook) ที่จัดโดยสำนักข่าวต่าง ๆ


ที่มาของรูปภาพ Reuters

 

จุดวัดใจวงการเงินดิจิทัล


ทั้งนี้ แซมถูกส่งตัวไปยังเรือนจำฟ็อกซ์ ฮิลล์ (Fox Hill) ในบาฮามาส และถูกงดประกันตัวจนถึง 8 กุมภาพันธ์ 2023 จากนั้นคาดว่าเขาอาจจะถูกส่งต่อเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐ โดยเรือนจำฟ็อกซ์ฮิลล์ ยังมีชื่อเสียงว่า ติดอันดับ 1 ใน 5 เรือนจำที่มีสภาพความเป็นอยู่แย่ที่สุดในโลก มีรายงานว่า เรือนจำแห่งนี้อันตรายและมีคนมากถึง 6 คนต่อ 1 ห้องขัง และมักจะมีปัญหาเรื่องน้ำดื่มอีกด้วย


ก่อนหน้านี้ สกุลเงินดิจิทัลทั้งหลายมีมูลค่าดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ธนาคารกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา (FED) ปรับขึ้นดอกเบี้ย จากเหตุการณ์เหล่านี้ ยิ่งทำให้โลกแห่งคริปโทฯ ปั่นป่วนมากขึ้นไปอีก มูลค่าบิตคอยน์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี ก่อนจะกลับมาที่ราคา 18,000 ดอลลาร์สหรัฐได้อีกครั้ง


อีกทั้งเหตุการณ์ล่มสลายของเอฟทีเอ็กซ์ ยังมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมา คือสร้างความสั่นสะเทือนและลดความเชื่อมั่นของวงการคริปโทเคอร์เรนซี ล่าสุด มีผู้ถอนเงินจากไบแนนซ์ ออกมาถึงหลัก 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง หลังจากมีข่าวด้านลบต่อเนื่อง


จากเหตุการณ์นี้ทำให้หลายคนมองว่า ถ้าหากเอฟทีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายเงินดิจิทัลที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกยังมีจุดจบเช่นนี้ แล้วก้าวต่อไปสำหรับคริปโทเคอร์เรนซีคืออะไรกันแน่ อย่างไรก็ตามหากคริปโทเคอร์เรนซี ผ่านบททดสอบครั้งใหญ่นี้ไปได้ ก็จะถือเป็นโอกาสยืนยันความแข็งแรงของสกุลเงินดิจิทัล ที่มีนิยามว่าถูกสร้างมาเพื่อหลีกหนีการควบคุมจากรัฐ และมีความเป็นอิสระ (Decentralize) สูงนั่นเอง แต่ก็ต้องแลกกับความเสี่ยงที่สูงมาก ๆ จากไม่มีการควบคุมจัดการโดยรัฐนั่นเอง 


ที่มาของข้อมูล cnnbusinessinsiderbbc

ที่มาของรูปภาพ Reuters



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง