รีเซต

'พายุซินลากู' สร้างความเสียหายพื้นที่เกษตร 10 จังหวัด หลังพัดนาข้าวเสียหาย 1.8 หมื่นไร่

'พายุซินลากู' สร้างความเสียหายพื้นที่เกษตร 10 จังหวัด หลังพัดนาข้าวเสียหาย 1.8 หมื่นไร่
มติชน
6 สิงหาคม 2563 ( 03:05 )
89
'พายุซินลากู' สร้างความเสียหายพื้นที่เกษตร 10 จังหวัด หลังพัดนาข้าวเสียหาย 1.8 หมื่นไร่

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อนซินลากู กระทรวงเกษตรฯได้สำรวจผลกระทบด้านการเกษตร แบ่งเป็น ด้านพืช 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ น่าน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน เลย ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช กระทบเกษตรกร 6,366 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหายประมาณ 3.8 หมื่นไร่ แบ่งเป็น ข้าวประมาณ 1.8 หมื่นไร่ พืชไร่ 9.9 พันไร่ พืชสวนประาณ 9.3 พันไร่

 

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ด้านประมงกระทบ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา เลย นครพนม และหนองบัวลำภู เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,396 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ บ่อปลา 1,137 ไร่ และด้านปศุสัตว์ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย น่าน ลำปาง เกษตรกร 480 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 6,801 ตัว ได้แก่ โค-กระบือ 230 ตัว สุกร 76 ตัว สัตว์ปีก 6,495 ตัว

 

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า สำหรับ การให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการกรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 29 เครื่อง ได้แก่ เชียงใหม่ 2 เครื่อง ขอนแก่น 20 เครื่อง กาฬสินธุ์ 2 เครื่อง ร้อยเอ็ด 5 เครื่อง รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และบุคลากรไว้พร้อมรับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด สามารถช่วยเหลือได้ทันที เพื่อเร่งการระบายน้ำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และในส่วนกรมปศุสัตว์ ได้เตรียมเสบียงสัตว์แห้งสำรอง 5,612 ตัน เวชภัณฑ์ ยานพาหนะ ทีมสัตวแพทย์และผู้ช่วย สัตวแพทย์ โดยได้แจกจ่ายเสบียงสัตว์ไปแล้ว 2,000 กิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ อ.เมืองเลย จ.เลย

 

สำหรับ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 30,420 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 43% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 7,120 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 15% ของความจุน้ำใช้การ ​ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่าง มีจำนวน 30 แห่ง อาทิ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่กวงอุดมธารา กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน แม่มอก ห้วยหลวง น้ำพุง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ และลำปาว เป็นต้น ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 3,915 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปริมาณน้ำระบายจากอ่าง 6,308 ล้าน ลบ.ม.

 

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า ด้านสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 7,535 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 30% ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 839 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 5% ของความจุน้ำใช้การ และปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 120.45 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจากอ่าง 5.76 ล้าน ลบ.ม.


​​
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุซินลากู แต่ก็ส่งผลดีต่อเกษตรกรในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนสิริกิติ์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ 180 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ 112 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน เตรียมบริหารจัดการน้ำโดยอาศัยกลไกระบบชลประทาน จะทำการส่งน้ำแก่เกษตรกรในเขตพื้นที่ชลประทาน บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกให้ได้มากที่สุดต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง