รีเซต

‘บิ๊กป้อม’ เคาะ 9 มาตราการ จัดสรรน้ำฤดูแล้ง 63/64 มั่นใจปชช. มีน้ำกิน-ใช้ ตลอดปี

‘บิ๊กป้อม’ เคาะ 9 มาตราการ จัดสรรน้ำฤดูแล้ง 63/64 มั่นใจปชช. มีน้ำกิน-ใช้ ตลอดปี
มติชน
22 ตุลาคม 2563 ( 12:29 )
100

​เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2563 โดยมีดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นช่วงปลายฤดูฝนที่ประเทศยังได้รับอิทธิพลจากพายุและร่องความกดอากาศต่ำ ซึ่งส่งผลให้หลายพื้นที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งยังได้สั่งการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมมาตรการรับมือน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมอย่างใกล้ชิดด้วย ขณะเดียวกัน ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 (1พ.ย.63-30 เม.ย. 64) ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ 1.เพื่ออุปโภค-บริโภค 2.รักษาระบบนิเวศ 3.เพื่อการเกษตรกรรม และ 4.เพื่อการอุตสาหกรรม โดยจากการประเมินปริมาณน้ำต้นทุน ( ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563) พบว่า จะมีปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ จำนวน 41,879 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถนำมาจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2563/64 ทั้งประเทศ รวม 22,847 ล้านลบ.ม. ที่เหลือเป็นปริมาณน้ำสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2564 จำนวน 19,032 ล้าน ลบ.ม.

​ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ 9 มาตรการหลักรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง โดยเน้นจัดการน้ำให้สมดุลระหว่างน้ำต้นทุน และความต้องการใช้น้ำ พร้อมทั้งให้มีการติดตามประเมินผลและสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานเจ้าภาพหลักรับผิดชอบชัดเจน ได้แก่ 1.เร่งเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำต่าง ๆ ก่อนสิ้นสุดฤดูฝน 2.จัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมวางแผนวางท่อน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาข้างเคียง และแผนรับน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำโดยตรง 3.ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 4. กำหนดปริมาณน้ำจัดสรรในฤดูแล้งที่ชัดเจน มีการติดตามกำกับให้เป็นไปตามแผน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค พร้อมจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำ 5. เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง 6. วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่ชัดเจน รวมถึงมาตรการควบคุมการสูบน้ำ การแย่งน้ำ กรณีไม่อาจสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ให้มีการกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่รวดเร็วและชัดเจน 7.ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า 8. ติดตามประเมินผลการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และ 9.สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำอย่างต่อเนื่อง ให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง