รีเซต

หญิงท้องติดโควิดสะสมกว่า 7 พัน ตาย 110 ราย สธ.ตามอีกกว่า 2 แสนคน ฉีดวัคซีน

หญิงท้องติดโควิดสะสมกว่า 7 พัน ตาย 110 ราย สธ.ตามอีกกว่า 2 แสนคน ฉีดวัคซีน
มติชน
8 มีนาคม 2565 ( 15:37 )
60

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงในประเด็นหญิงตั้งครรภ์ (ต้อง) ปลอดภัยในสถานการณ์โควิด-19 ว่า สถานการณ์โควิด-19 ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูง กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และหลังคลอด 6 สัปดาห์ ถือเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษเพื่อลดอัตราเสียชีวิต สำหรับอัตราหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ ข้อมูลตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6-12 รวม 511 ราย ซึ่งสัปดาห์ล่าสุดวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – วันที่ 5 มีนาคม มีการติดเชื้อในกลุ่มนี้สูงถึง 224 ราย

 

 

ทั้งนี้ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ข้อมูลการติดตามสถานการณ์หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด 6 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 – วันที่ 5 มีนาคม 2565 ติดเชื้อสะสม 7,210 ราย เสียชีวิต 110 ราย คิดเป็น ร้อยละ 1.5 ขณะที่ เด็กแรกเกิดคลอด 4,013 ราย ติดเชื้อ 319 ราย คิดเป็น ร้อยละ 8 เสียชีวิต 67 ราย คิดเป็น ร้อยละ 1.6 อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ทำให้มีการผ่าตัดคลอดมากขึ้นกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อถึง ร้อยละ 53 รวมถึงทารกน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 2,500 กรัม มากถึงร้อยละ 15 ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนหญิงตั้งครรภ์ 7,210 ราย ที่ติดโควิด-19 พบว่า ไม่ได้รับวัคซีน 6,292 รายคิดเป็น ร้อยละ 87 ได้รับเข็ม 1 ติดเชื้อ 368 รายคิดเป็น ร้อยละ 5 และ ได้รับครบ 2 เข็ม ติดเชื้อ 550 ราย คิดเป็น ร้อยละ 8

 

“เมื่อวิเคราะห์อัตราเสียชีวิตพบว่า หญิงตั้งครรภ์รับวัคซีน 2 เข็ม มีอัตราลดลงเกือบ 10 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน” นพ.สุววรณชัย กล่าว

 

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลสำรวจอนามัยโพล เรื่อง ความกังวลของหญิงตั้งครรภ์ในช่วงโควิด-19 พบว่า ภาพรวม ร้อยละ 98 มีความกังวลต่อสถานการณ์ ตั้งแต่ปานกลางขึ้นไปถึง ร้อยละ 70 ส่วนเรื่องที่กังวลมากสุดคือ การระบาดโควิดโอมิครอน ร้อยละ 25 สังคมการ์ดตก ร้อยละ 15 สถานที่ไม่เคร่งครัดมาตรการ ร้อยละ 15 การว่างงาน ร้อยละ 9 ประสิทธิภาพวัคซีน ร้อยละ 6 และ อื่นๆ ร้อยละ 40 ดังนั้น ขอให้ทุกคนร่วมกันยกการ์ดสูงด้วยมาตรการ Universal Prevention

 

“ขณะเดียวกัน ผลสำรวจการป้องกันตัวของหญิงตั้งครรภ์ พบว่า มีการเฝ้าระวังความเสี่ยงสูงถึง ร้อยละ 81 ทำบางครั้ง ร้อยละ 18 และไม่ทำเลย ร้อยละ 1 โดยสิ่งที่ทำได้มากสุดคือ การสังเกตอาการเบื้องต้น ร้อยละ 82 ตรวจ ATK ร้อยละ 68 ตรวจวัดอุณภูมิ ร้อยละ 57 และอื่นๆ จึงแสดงให้เห็นถึงความระมัดระวังของหญิงตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไป” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

ทั้งนี้ นพ.สุวรรชัย กล่าวว่า สถานการณ์วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ ข้อมูล ณ วันที่ 5 มีนาคม ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 117,385 ราย เข็มที่ 2 อีก 105,094 ราย และเข็มที่ 3 อีก 17,361 ราย ซึ่ง สธ.มีเป้าหมายให้ฉีดวัคซีนครบ 240,000 ราย ทั้งนี้ การติดตามข้อมูลอาการไม่พึ่งประสงค์และผลลัพธ์การคลอดของหญิงตั้งครรภ์ พบว่า มีผู้ที่รับวัคซีนและคลอดแล้ว 2,770 ราย โดย ร้อยละ 57 ไม่มีอาการข้างเคียงจากวัคซีน ส่วน ร้อยละ 43 มีรายงานผลข้างเคียงจากวัคซีน พบว่าเกือบ ร้อยละ 97 มีอาการเช่นเดียวกับคนทั่วไป เช่น ปวด มีไข้ บวมบริเวณฉีด อีกร้อยละ 3 มีรายงานอาการเกี่ยวกับครรภ์ เช่น ปวดท้องน้อย จากการสอบสวนพบว่า เกือบทั้งหมดเป็นอาการเจ็บครรภ์จะคลอด

 

“จากข้อมูลทั้งหมด จึงอยากให้ความมั่นใจว่า การฉีดวัคซีนมีความปลอดภัยและขอเชิญชวนให้หญิงตั้งครรภ์ที่ตามเกณฑ์เข้ารับวัคซีน สธ.จึงเร่งฉีดเชิงรุกในหญิงทุกอายุครรภ์ สามารถให้พร้อมกับวัคซีนอื่นที่จำเป็นได้ ส่วนหญิงที่คลอดและไม่ยังได้รับวัคซีน สามารถฉีดได้ก่อนกลับบ้าน ส่วนที่ยังไม่สมัครใจฉีด ก็ขอให้คนในครอบครัวฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามเกณฑ์” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวย้ำว่า ในจำนวนหญิงตั้งครรภ์นั้น แบ่งเป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ฉีดวัคซีนแล้ว มาตั้งครรภ์ในภายหลัง และอีกกลุ่มที่ตั้งครรภ์แล้วยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งประมาณการณ์ว่า ยังต้องติดตามหญิงตั้งครรภ์มาฉีดวัคซีนราวๆ 2.4-2.8 แสนราย โดยให้แพทย์ที่รับฝากครรภ์เป็นผู้สอบถาม และฉีดให้ ยืนยันว่าขณะสามารถฉีดได้ทุกอายุครรภ์ ฉีดได้ทุกชนิดวัคซีน มีความปลอดภัย จากการติดตามการฉีดไม่พบอัตรายต่อการตั้งครรภ์หรือการคลอด

 

“หญิงตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ จะมีปัญหาเรื่องของการหายใจลำบากอยู่แล้ว เพราะมีเด็กอีกคนอยู่ในท้อง ซึ่งจะไปดันพื้นที่ปอด ทำให้แม่หายใจลำบาก ดังนั้นหากหญิงตั้งครรภ์เกิดการติดเชื้อด้วยจึงยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น เสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีอะไรมาเบียดปอด ดังนั้นขอให้หญิงตั้งครรภ์มารับวัคซีน ซึ่งขอให้มั่นใจจาการฉีดวัคซีนกว่าร้อยล้านพันล้านโดสมีความปลอดภัย อาการข้างเคียงเล็กน้อยเหมือนการฉีดวัคซีนทั่วไป” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเฝ้าระวังอาการโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์คล้ายกับอาการในหญิงทั่วไป แต่สิ่งที่ต้องจับตาเพิ่มคือ เจ็บท้องก่อนกำหนด ท้องแข็ง เลือดออกจากช่องคลอด น้ำใสๆ ไหลออกจากช่องคลอด ซึ่งอาจจะหมายถึงอาการน้ำเดิน มีอาการครรภ์เป็นพิษ เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ เป็นต้น อาการที่จัดเป็นผู้ป่วยสีแดง ต้องรีบแจ้งแพทย์ คือ ระบบการหายใจมีปัญหารุนแรงทำให้หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หากเอกซเรย์จะพบปอดอักเสบรุนแรง เกิดภาวะปอดบวมจากการเปลี่ยนแปลง ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า ร้อยละ 96 หรือมีการลดลง ร้อยละ 3 จากค่าที่วัดได้ในตอนแรกก็ถือว่าอันตราย นอกจากนี้ยังมีอาการแน่นหน้าอกตลอดเวลา หายใจเจ็บหน้าอก ตอบสนองช้า ไม่มีสติ หรือไม่รู้สึกตัว ให้รีบไปพบแพทย์

 

“คำแนะนำให้นอนตะแคงซ้ายเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี พยายามขยับขาป้องกันลิ่มเลือด และดื่มน้ำเยอะๆ แต่ไม่แนะนำให้นอนตะแคงทางด้านขวาเพราะจะไปกดการไหลเวียนของเส้นเลือดใหญ่ และไม่แนะนำให้นอนหงายโดยเฉพาะหญิงที่มีอายุครรภ์มาก ๆ เพราะท้องจะไปยกตัวไปเบียดกระบังลมทำให้หายใจลำบาก” นพ.เอกชัย กล่าวและว่า หากจะนอนหงายให้วางศีรษะสูงขึ้นจากแนวลำตัว

 

นพ.เอกชัย กล่าวว่า ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องผ่าคลอด ซึ่งจะใช้เวลาในการเตรียมตัวคลอดนานถึง 4-5 ชั่วโมง ดังนั้น จึงควรคลอดตามธรรมชาติ ยกเว้น มีข้อบ่งชี้ว่าต้องผ่าคลอด เช่น เด็กตัวใหญ่ มีความเครียดสูง เป็นต้น

 

“ทั้งนี้ กรณีเด็กที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อ ก็จะมีการตรวจว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หากติดเชื้อ และมีอาหารก็จะให้รักษาตัวในหอผู้ป่วยเด็ก หากไม่มีอาการ ก็สามารถอยู่กับแม่ได้ แม่อุ้มลูกได้โดยตั้งล้างมือทั้งก่อน และหลังการอุ้ม สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ส่วนกรณีแม่ติด ลูกไม่ติด แต่แม่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการก็ยังสามารถอุ้มลูกได้เช่นกัน โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือทั้งก่อน และหลังการอุ้ม งดหอมแก้มทุกกรณี ทั้งนี้ ลูกยังสามารถกินนมจากเต้านมได้ แต่ก่อนกินให้มีการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดเต้านมก่อน หรือหากแม่มีอาการมาก สามารถปั๊มนมเก็บให้ลูกดื่มได้ เพราะเชื้อโควิด-19 ไม่ได้ส่งผ่านทางน้ำนม” นพ.เอกชัย กล่าว

 

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ส่วนการให้ยารักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 นั้น ไม่แนะนำให้กินยาฟาวิพิราเวียร์ หรือ ฟ้าทะลายโจร เพราะมีผลต่อทารกในครรภ์ แต่หากมีข้อบ่งชี้ต้องใช้ยา จะฉีดแรมเดซิเวียร์แทน แต่หากพื้นที่ไหนมียาฉีดแรมเดซิเวียร์จำกัด หรือไม่เพียงพอ ก็จะพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์แทนได้ แต่กรณีนี้ จะให้เฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ไตรมาสสุดท้ายเท่านั้น และต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง