รีเซต

สธ. ชง ศบค. คลายล็อกกิจการ กินในร้าน 50% ผู้ใช้-ผู้ให้บริการต้องโควิดฟรี 1 ใน 3 เงื่อนไข

สธ. ชง ศบค. คลายล็อกกิจการ กินในร้าน 50% ผู้ใช้-ผู้ให้บริการต้องโควิดฟรี 1 ใน 3 เงื่อนไข
มติชน
26 สิงหาคม 2564 ( 13:05 )
40
สธ. ชง ศบค. คลายล็อกกิจการ กินในร้าน 50% ผู้ใช้-ผู้ให้บริการต้องโควิดฟรี 1 ใน 3 เงื่อนไข

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ของประเทศไทย ว่า ช่วงเช้าวันนี้มีการประชุม ศบค.สธ. ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวข้องเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องและประชาชน เพื่อให้เกิดการเตรียมการในระยะถัดไป ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มีระบาดรุนแรงขึ้น ผู้ติดเชื้อรายวันเคยอยู่ที่ 3 แสนรายแต่วันนี้ 6.9 แสนราย สะสม 214.6 ล้านราย เสียชีวิตรายใหม่ 10,770 ราย ประเทศที่มีการติดเชื้อมาก คือ สหรัฐอเมริกา แม้ได้รับวัคซีนโควิด-19 พอสมควรแต่ก็ติดเชื้อสูงเพราะมีสายพันธุ์เดลต้า ที่มีความสามารถแพร่เชื้อค่อนข้างสูง ประเทศที่น่าสนใจคือ อิตาลี เยอรมนี ติดเชื้อใหม่หลักหมื่นราย และเสียชีวิตน้อย เราก็อยากเป็นเช่นนี้ ให้ติดเชื้อใหม่และอัตราเสียชีวิตต่ำ

 

 

อย่างไรก็ตาม วันนี้เราพบผู้ติดเชื้อใหม่ 18,501 ราย ยังคงตัว ค่าเฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 1.8 หมื่นรายลดลงจาก 2 หมื่นกว่าราย ผู้หายป่วยมากกว่า 2 หมื่นราย ซึ่งมากกว่าการติดเชื้อใหม่ต่อเนื่องเกินสัปดาห์แล้ว ซึ่งหมายถึงว่าปริมาณเตียงที่เราเคยดูแลผู้ป่วยกว่า 2 แสนเตียงก็ลดชัดเจน มาอยู่ที่ 1.9 แสนเตียง แต่ผู้ป่วยปอดอักเสบ และใส่ท่อช่วยหายใจยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งปัจจัยสำคัญก็ยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 607 คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น ขณะนี้กรุงเทพฯ ปริมณฑล ฉีดกลุ่มเสี่ยงแล้วกว่า 90% แต่ต่างจังหวัดยังน้อยอยู่ ก็ต้องเร่งการฉีดให้มากขึ้น

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบันเราล็อคดาวน์มา 4 สัปดาห์กว่าๆ และจากการวางฉากทัศน์เอาไว้ว่าหากไม่ล็อคดาวน์จะติดเชื้อกว่า 6 หมื่นรายต่อวัน แต่ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ทั้งนี้หากเราล็อคดาวน์ แล้วประชาชนร่วมมือในการดำเนินการ ปัจจุบันอัตราการติดเชื้อเป็นไปตามที่หวัง เข้าใจว่าผลการล็อคดาวน์มีประสิทธิภาพ 20-25% ต้องรอดูอีกระยะ ทั้งนี้ ตั้งแต่การติดเชื้อระลอกเดือน เม.ย.64 ที่มีการติดเชื้อเร่งขึ้นมา ภายหลังที่เราประกาศมาตรการทางสังคมหลายฉบับก็เริ่มชะลอได้ ปัจจุบันอัตราติดเชื้อรายวันเลยจุดสูงสุดมาแล้ว และกำลังลดลงมา แต่ยังมีการระบาดต่อเนื่องในแนวโน้มทิศทางลดลง จึงต้องขอความร่วมมือกับประชาชนและกิจการต่างๆ ยังคงมาตรการอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงขึ้น เราได้รับบทเรียนการระบาดที่รุนแรง ได้รับผลกระทบวงกว้าง เราก็จะไม่ให้เกิดเหตุกาณ์เช่นนี้อีก โดย สธ. ก็จะเสนอมาตรการตรึงและลดอัตราติดเชื้อรายวัน ไม่ให้กระดกหัวขึ้นมา ให้เราอยู่กับโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ทาง สธ. จะเสนอ ศบค. ให้กิจการบางอย่างที่มีความสำคัญ มีความเสี่ยงน้อย สามารถใช้มาตรการกำกับเพื่อลดความเสี่ยงได้ อนุญาตให้ดำเนินกิจการได้ เช่น ร้านอาหาร กีฬากลางแจ้ง ห้างสรรพสินค้า การเดินทาง ตามมาตรการสำคัญ ดังนี้ 1. Universal Prevention for COVID-19 หรือ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล คือ การป้องกันส่วนบุคคลสูงสุดตลอดเวลา ทั้งบุคลากรการแพทย์และประชาชนทั่วไป เพราะพบว่า เมื่อเราออกไปสู่ภายนอกกับคนไม่รู้จักเราจะระมัดระวัง แต่กับคนรู้จักเราไม่ค่อยระวัง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการติดเชื้อมาจากคนใกล้ชิด จากที่ทำงาน เพื่อน ครอบครัว เนื่องจากเข้าใจว่า เขาไม่ติดเชื้อ ทำให้ลดการป้องกันตัวเอง เช่น ทานอาหารร่วมกันมีการพูดคุยกัน ลดการใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้น ตลอดเวลาเราต้องคำนึงว่า คนรอบตัวแม้คนสนิทอาจเป็นผู้ติดเชื้อ ทุกคนต้องมีจิตสำนึกว่า คนรอบตัวเรามีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ จึงต้องระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา โดยมีมาตรการเสริมต่างๆ ร่วมกับการออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น กลุ่มเสี่ยงก็ให้เลี่ยงออกจากบ้าน เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดผิวสัมผัส ทานของร้อน แยกของใช้ หากมีความเสี่ยงก็ให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เช่น ชุดตรวจเร็วแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK)

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า 2. มาตรการที่จะเสนอในสถานประกอบการ ทาง สธ. ยกระดับให้กิจการดำเนินการได้ เรียกว่า COVID Free Program ร่วมกับ Universal Prevention โดยจะนำไปใช้กับสถานประกอบการ หรือสถานที่ต่างๆ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.ส่วนสถานประกอบการ ต้องมีการจัดระยะห่าง มีระบบระบายอากาศ ไม่ให้อากาศนิ่ง ซึ่งจะอยู่ในสถานประกอบการที่เป็นห้องปรับอากาศ โดยต้องจัดระบบนี้ และ 2. ส่วนบุคคล แบ่งออกเป็นผู้ให้บริการ ต้องเป็น โควิดฟรี(COVID Free) คือ 1. ต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม 2. เคยติดเชื้อและพ้นระยะการแพร่เชื้อ คือ หลังติดเชื้อมาแล้วประมาณ 1 เดือนไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งถือว่ามีภูมิคุ้มกันยังสูง หรือ 3. ถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่เคยติดเชื้อ ก็ต้องมีผลการตรวจหาโควิด-19 ด้วย RT-PCR หรือ ATK เป็นลบ ผู้ที่ความเสี่ยงมากให้ตรวจทุก 3 วัน หากเสี่ยงน้อยทุก 7 วัน หากทำได้ก็สามารถให้บริการได้ ก็ประกาศได้ว่า “ผู้ให้บริการทุกคนเป็นโควิดฟรี”

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เช่นเดียวกับผู้ใช้บริการหรือลูกค้า ในระยะถัดไปก็ต้องปราศจากเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกัน คือ ต้องรับวัคซีน 2 เข็ม ต่อไปอาจมีบัตร หรือดิจิทัลการ์ด ว่าได้รับวัคซีนครบแล้ว หรือใบรับรองการฉีดวัคซีน 2 เข็มในหมอพร้อม หรือหากไม่มีก็ขอใบรับรองจากหน่วยบริการฉีดวัคซีนได้ หรืออีกส่วนอาจใช้บัตรเหลืองหรือบัตรชั่วคราว สำหรับคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว 1-3 เดือน ก็สามารถขอใบรับรองจากแพทย์ได้ ซึ่งเป็นระยะที่มีภูมิคุ้มกัน แต่หากพ้นระยะดังกล่าวก็ไปฉีดวัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต่อไป ขณะเดียวกัน หากไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือไม่เคยติดเชื้อ ก็ต้องเป็นโควิดฟรี ก็จะเหมือนกับผู้ประกอบการคือ มีการตรวจโควิดเบื้องต้นด้วยชุดตรวจ ATK ซึ่งอาจตรวจเองที่บ้าน และมีการรับรองกัน หรือในอนาคตทางสถานประกอบการจะมีชุดนี้เตรียมไว้ให้

 

 

“คาดว่า จะมีกิจการต้นแบบให้เป็นมาตรฐาน และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป หลายกิจการ เสนอตัวเข้ามาแล้ว สธ.ก็จะสนับสนุน ทางด้านเทคนิก วิธีการ เพื่อให้เกิดต้นแบบต่อไป” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

 

 

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในการเสนอครั้งนี้ยังไม่มีการปรับสีพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักว่า การติดเชื้อยังสูงอยู่ ตระหนักว่ายังมีความรุนแรงอยู่ เพื่อคงมาตรการ DMHTT ต่อไป ส่วนเรื่องระยะเวลาหรือการประกาศใช้ ขอรอรายละเอียดการประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันพรุ่งนี้(27ส.ค.)

 

 

“สำหรับข้อเสนอผ่อนคลายร้านอาหารที่กล่าวมาจะเป็นในส่วนของระบบปิด คือ มีห้องปรับอากาศ แต่ขอย้ำว่า เรื่องนี้เราเน้นความสมัครใจ โดยร้านอาหารจะเปิดให้นั่งรับประทานได้ 50% เปิดได้ถึง 2 ทุ่ม ส่วนกิจการต่างๆที่จะผ่อนคลายด้วยก็จะมีมาตรการมารองรับเพิ่มเติม โดยขอให้ติดตามรายละเอียดในการประชุมศบค.พรุ่งนี้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

 

เมื่อถามว่าหากไม่มีใบรับรองต่างๆ รวมถึงผลตรวจ ATK จะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า หากใครไม่มีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่มีการ์ดเหลือง ที่รับรองการติดเชื้อหลัง 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน หรือไม่มีผลตรวจ ATK นั้นก็สามารถสั่งกลับไปรับประทานที่บ้านไป ต้องเตรียมมา ต้องมีความพร้อม ในยุคถัดไปต้องเป็นแบบนี้ และแน่นอนว่าถ้าจะให้มีมาตรการเหล่านี้สถานประกอบการก็ต้องมี ATK ให้ด้วย เหมือนที่สนามบินที่จะมีการทำ Covid Free Travel การท่าจะมีการทำและจัดหา ATK แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายให้ด้วย แต่ไม่มาก ตั้งใจว่าไม่ให้เกิน 100 บาท หรือประมาณ 70-80 บาท ถ้าไม่ได้ตรวจมาจากที่บ้าน ก็ไปทำที่สถานประกอบกิจการได้ ซึ่งจะมีการออกใบรับรองให้ สามารถรับรองได้ 7 วัน ไม่ว่าจะเข้าร้านอาหาร หรือสถานประกอบการเพื่อให้มีความมั่นใจ ทั้งนี้อนาคตเมื่อเรามี ATK เข้ามาในประเทศมากพอประชาชนเข้าถึงได้ระบบนี้จะได้จัดการได้อย่างเต็มที่

 

 

เมื่อถามย้ำถึงค่าใช้จ่ายชุดตรวจ ATK ผู้ใช้บริการ หรือผู้ให้บริการจเป็นผู้รับผิดชอบ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ต้องดูก่อนว่าเราจะทำได้ประมาณไหน อย่างในส่วนของภาคราชการนั้น ให้มีการตรวจด้วย ATK และเบิกได้ และออกบัตรเหลืองรับรองกันเองได้ ส่วนประชาชนทำได้ 2 วิธี โดยทางแรกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. หากมีการจัดซื้อแล้วเสร็จจำนวน 8.5 ล้านชุดก็จะแจกจ่ายประชาชนได้ อีกส่วนคือ ประชาชนสามารถเข้าถึงหาซื้อได้ ขณะที่สถานประกอบการจะมีการนำเข้ามาเช่นกันซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทใหญ่อาจจะมีการซื้อหา ATK ที่ผ่านอย. เข้ามาใช้ เพื่อเป็นความร่วมมือในการป้องกันโรคต่อไป ดังนั้นค่าใช้จ่ายถือเป็นภาระของทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจน แต่เป็นแนวทางที่จะแนะนำให้ปฏิบัติต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง