รีเซต

เปิดภารกิจนายกฯ ลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคอีสาน แก้ปัญหา - พัฒนาพื้นที่

เปิดภารกิจนายกฯ ลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคอีสาน แก้ปัญหา - พัฒนาพื้นที่
TNN ช่อง16
16 กุมภาพันธ์ 2567 ( 08:07 )
31
เปิดภารกิจนายกฯ ลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคอีสาน แก้ปัญหา - พัฒนาพื้นที่

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครพนม สกลนคร และอุดรธานี ระหว่างวันที่ 17 - 19 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อตรวจติดตามโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐบาล เช่น ด้านการท่องเที่ยว สถานการณ์การส่งออกและพื้นที่ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ ด่านศุลากรจังหวัดนครพนม ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องการทำประมงน้ำจืด และการบริหารจัดการน้ำ เยี่ยมชมพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาคุณภาพดิน การจัดการแหล่งน้ำ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร การพัฒนาจังหวัดสกลนครเป็นเมืองนวัตกรรมการเกษตร นโยบาย 30 บาทรักษาได้ทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว มอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้กับผู้เช่าที่ราชพัสดุตามโครงการ ‘หนองวัวซอโมเดล’ จังหวัดอุดรธานี พร้อมหารือแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาของทั้งสามจังหวัด และพบปะประชาชนในพื้นที่

 โดยนายกรัฐมนตรีมีภารกิจ ดังนี้

 

วันเสาร์ที่ 17 ก. พ. 67 ในช่วงเช้า เวลาประมาณ 09.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ จะออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานนครพนม ต.บ้านผึ้ง อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม เพื่อเดินทางไปเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยว ณ หมู่บ้านมิตรภาพไทย - เวียดนาม อนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ หมู่บ้านนาจอก ต.หนองญาติ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม 


จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปที่ด่านศุลกากรจังหวัดนครพนม สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 3 ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม เพื่อติดตามสถานการณ์การส่งออกและพื้นที่ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยจะมีการติดตามและพิจารณาในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของด่านศุลกากรฯ และการพัฒนาพื้นที่ อาทิ สถานการณ์การนำเข้า - ส่งออกสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 


การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม และถนนสายเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน - ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดน บริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 - ถนนเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลย 212 อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

 

สำหรับในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะประชุมหารือแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาของจังหวัดนครพนม ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยนครพนม ต.มะขามเฒ่า อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม โดยจะได้พิจารณาแผนงานและโครงการที่จังหวัดนครพนมขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ได้แก่ โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและการบริหารจัดการน้ำ การยกระดับเมืองรองเป็นเมืองหลัก Medical & Wellness Hub การเที่ยวชุมชน ยลวิถี ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านท่าเรือ อำเภอนาหว้า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP พร้อมกับเยี่ยมชมนิทรรศการของดีประจำ 12 อำเภอ ภายใต้ 3MUST (Eat Travel Visit) ณ บริเวณ ชั้น 1 หอประชุมมหาวิทยาลัยนครพนม 


ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เพื่อร่วมงานนมัสการพระธาตุพนมวรมหาวิหาร และพบประชาชน แล้วออกเดินทางไป จ.สกลนคร โดยในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีจะพบประชาชน ณ ตลาดเทศบาลนครสกลนคร ต.ดงมะไฟ อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร

 

วันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ.  67 ช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปสักการะพระธาตุเชิงชุม ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะร่วมหารือประเด็นความเดือดร้อนเรื่องการทำประมงน้ำจืดและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่หนองหาร ณ สวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา เสร็จแล้วจะเดินทางต่อไปยังวัดถ้ำผาแด่น ต.ดงมะไฟ อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร เพื่อพูดคุยประเด็นการพัฒนาจังหวัดสกลนครเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนา ณ วัดถ้ำผาแด่น ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ห้วยยาง อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาคุณภาพดิน การจัดการแหล่งน้ำ และประชุมหารือแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาของจังหวัดสกลนคร โดยจะมีการพิจารณาประเด็นการพัฒนาที่สำคัญของจังหวัดสกลนคร อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และอาหาร (Gastronomy Tourisms) และการพัฒนาและยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยการใช้นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

 

ส่วนในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมคราม 'วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน' ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งบ้านดอนกอยเป็นชุมชนมีชื่อเสียงทางด้านมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมการทอผ้าของไทย โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าอย่างครบวงจร ซึ่งได้มีการพัฒนาลวดลาย ดีไซน์ที่ทันสมัย สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน จนกลายเป็นชุมชนต้นแบบของประเทศ โดยมีปัจจัยความสำเร็จ ได้แก่ พลังแห่งการรู้รักสามัคคีของชาวบ้านและผู้นำในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาหมู่บ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่นและหลากหลาย และการพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับภูมิสังคมและร่วมสมัย การบริหารจัดการตามหลักธรรมภิบาล และการบูรณาการขับเคลื่อนงานพัฒนาหมู่บ้าน ด้วยเครือข่ายพัฒนาชุมชน ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะพบปะประชาชน และติดตามนโยบาย 30 บาท รักษาได้ทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ณ โรงพยาบาลบ้านม่วง ต.ม่วง อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะหารือประเด็นการพัฒนาจังหวัดสกลนครเป็นเมืองนวัตกรรมการเกษตร และชมผลิตภัณฑ์สินค้าทางการเกษตร จับคู่ความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและเกษตรกร ณ อ่างเก็บน้ำห้วยโทง ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ด้วย

 

วันจันทร์ที่ 19 ก.พ. 67 ในช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีจะมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้กับผู้เช่าที่ราชพัสดุตามโครงการ “หนองวัวซอโมเดล” และเยี่ยมชมนิทรรศการวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ณ ที่ว่าการอำเภอหนองวัวซอ ต.หนองอ้อ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี จากนั้นช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะประชุมหารือแผนพัฒนาของจังหวัดอุดรธานี โดยจะมีการพิจารณาประเด็นการพัฒนาที่สำคัญของจังหวัด อาทิ แนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทะเลวัวแดง และการกำจัดวัชพืช การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดอุดรธานี การเตรียมการจัดงานพืชสวนโลก ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากุมภวาปี ต.เวียงคำ อ.กุมภาวาปี จ.อุดรธานี เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยังโครงการเหมืองแร่โพแทช ต.หนองไผ่ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี เพื่อพูดคุยแผนงานมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง และแผนการฟื้นฟูเหมืองแร่โพแทซ 


ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจ นายกรัฐมนตรีและคณะ จะเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 16.15 น. ทั้งนี้ กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว ว่า การเดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.นครพนม สกลนคร และอุดรธานี ครั้งนี้ของนายกฯ เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลและนายกฯ ให้ความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนและบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย 


นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ความสำคัญในการดึงและใช้ศักยภาพด้านต่าง ๆ ที่แต่ละพื้นที่หรือจังหวัดมีอยู่ มาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ระบบเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งด้านการเกษตร สถานที่ท่องเที่ยว ศิลปะ ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ฯลฯ ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับประชาชนทั้งการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม รวมถึงการดูแลระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เพื่อการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย


ข้อมูลจาก: ทำเนียบรัฐบาล

ภาพจากทำเนียบรัฐบาล

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง