รีเซต

สธ.เคลียร์ปมวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซนเนก้า-สยามไบโอไซเอนซ์ ยันไม่มีผลประโยชน์แฝง

สธ.เคลียร์ปมวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซนเนก้า-สยามไบโอไซเอนซ์ ยันไม่มีผลประโยชน์แฝง
มติชน
19 มกราคม 2564 ( 15:56 )
137

สธ.เคลียร์ปมวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซนเนก้า-สยามไบโอไซเอนซ์ ยันไม่มีผลประโยชน์แฝง ขอผู้วิจารณ์ดูข้อมูลให้ครบด้าน

 

เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงกรณีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ให้กับคนไทย

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ตามที่มีการกล่าวหาเกี่ยวกับรัฐบาล และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีน มีความนิ่งนอนใจ ล่าช้าในการหาวัคซีน รวมถึงมีราคาสูงไม่ครบคลุมประชาชน และกระบวนการที่ได้มาซึ่งวัคซีน ที่กล่าวว่าเราติดต่อเพียง 1-2 บริษัท เท่านั้น สธ.จึงอยากชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกันอย่างถูกต้องในสิ่งที่ดำเนินการมาตลอด

 

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ต้องย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาลเล็งเห็นว่าการนำวัคซีนมาฉีดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน ลดการแพร่เชื้อเป็นเครื่องสำคัญ และไม่ได้ดำเนินการช้า เพราะเราเริ่มต้นตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ที่ยังมีการทดลองวัคซีนอยู่ เราศึกษาข้อมูลมาตลอดว่าใครทำอะไรถึงไหน ณ ตอนนั้นยังมีข้อมูลจำกัด ไม่มีสินค้าสำเร็จรูป หลายเรื่องต้องมีการคาดการณ์วางแผน เราจึงตั้งเป้าว่าในปี 2564 เราน่าจะมีวัคซีนฉีดให้คนไทยร้อยละ50 ของจำนวนประชากร จาก 3 ช่องทาง คือ 1.เข้าร่วมกับโคแวกซ์ (COVAX) เพื่อจองซื้อวัคซีนถังกลาง ให้ครอบคลุมร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร แต่ด้วยไทยมีฐานะปานกลาง จึงได้ราคาที่สูงกว่าประเทศที่รายได้ต่ำกว่า ซึ่งมีความยุ่งยากในการจองซื้อรวมถึงการได้วัคซีนมาก็ยังเป็นปัญหาอยู่ แต่เราก็ไม่ได้ทิ้ง เพียงแต่เป็นไปได้ค่อนข้างยาก 2.รับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้ผลิตในประเทศ จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ผ่านบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 26 ล้านโดส หรือร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร และ 3.การเปิดทางให้บริษัทที่จะมีผลการทดลองออกมาเป็นระยะ อีกร้อยละ 10 ของประชากร

 

 

“เราศึกษาข้อมูลจากทุกเจ้าที่ผลิตวัคซีน เพียงแต่ไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะ เพราะข้อตกลงเป็นที่ความลับระหว่างบริษัท ดังนั้น เราไม่ได้แทงม้าตัวเดียว นอกจากนั้น เราไม่ละเลยในการสนับสนุนผลิตในประเทศ เพราะหากคนไทยทำได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้น สถานการณ์วัคซีนไม่ได้ข้อมูลสำเร็จรูป ต้องมีการวางแผน ปรับเปลี่ยนแนวทางตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การที่เราได้มาจำนวนหนึ่งมาจากซิโนแวค ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ต่อด้วย 26 ล้านโดส จากแอสตร้าเซนเนก้า ปลายเดือนพฤษภาคม เราก็จะเจรจาขอซื้อเพิ่มเติมให้ครบร้อยละ 50 ภายในปี 2564 อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ ถามว่ามีความล่าช้ามากหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ได้มากมายนัก เมื่อบเทียบกับประเทศต่างๆ เพราะประเทศที่ฉีดก่อนส่วนใหญ่จองฉีดตั้งแต่การวิจัยยังเป็นวุ้นอยู่ จึงมีข้อแตกต่างกับประเทศเราพอสมควร ที่ต้องมีความรอบคอบในการดำเนินการ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

นพ.นคร กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ต่างจากสถานการณ์ปกติทั่วไป ฉะนั้นจะใช้ความรู้หรือประสบการณ์เดิมไม่เพียงพอ เพราะเป็นการบริหารจัดการในภาวะเร่งด่วนและมีความไม่แน่นอน ดังนั้น สธ.และสถาบันวัคซีนฯ ร่วมกันจัดหาวัคซีนด้วยการจองล่วงหน้า ได้ใช้ข้อมูลหลายอย่างประกอบกัน ไม่ใช่เพียงแค่การเจรจาซื้อธรรมดา ต้องพิจารณาข้อมูล รูปแบบวัคซีนที่พัฒนาอยู่เป็นอย่างไร มีแนวโน้มว่าจะใช้การได้อย่างไร และจะนำมาใช้ในประเทศไทยอย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่พิจารราตามชื่อของบริษัทหรือตามตัววัคซีนเพียงอย่างเดียว

 

 

นพ.นคร กล่าวว่า กรณีบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ไม่ใช่จองซื้อทั่วไปแต่มีข้อตกลงในการถ่ายทอดเทคโลโนยีผลิตกับไทยด้วย โดยจะต้องมีผู้รับถ่ายทอดเทคโลโนยี ไม่ใช่ถ่ายทอดโดยทั่วไป คนที่มารับในช่วงเวลาเร่งด่วน ไม่ใช่มาเรียนทำวัคซีนแบบปกติทั่วไป แต่ต้องเป็นคนที่พร้อมและมีความสามารถที่สุด และเขามั่นใจที่สุด โดยแอสตร้าเซนเนก้าก็มีการทบทวนคุณสมบัติของบริษัทต่างๆ ในไทย ไม่ใช่เพียงแค่เจ้าเดียว แต่มีแค่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เท่านั้นที่มีศักยภาพในการรับถ่ายทอดการผลิตในรูปแบบของไวรัลเวกเตอร์ (Viral vector) ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

 

“ไม่ว่าจะไปเลือกเอาเอกชนรายใดมาทำก็ได้ แม้กระทั่งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ของ สธ.เอง ศักยภาพก็ยังไม่เพียงพอในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องมีความพร้อม คนที่มาสอนก็ไม่เสียเวลามากเกินไป เพราะมีความเร่งด่วน ดังนั้น แอสตร้าเซนเนก้าเป็นผู้คัดเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเกิดจากเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กับ เครือเอสซีจี ที่เป็นหน่วยงานพัฒนาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง จึงเจรจาดึงให้แอสตร้าเซนเนก้ามาประเมินศักยภาพบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์” นพ.นคร กล่าว

 

นพ.นคร กล่าวต่อไปว่า แอสตร้าเซนเนก้าเองก็มีความต้องการขยายฐานการผลิตทั่วโลกและต้องการกำลังการผลิตในระดับ 200 ล้านโดสต่อปีขึ้นไป ถึงจะพิจารณา โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จึงเข้าได้กับเกณฑ์ที่แอสตร้าเซนเนก้าต้องการ อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยได้ข้อตกลงในลักษณะนี้ มีหลายประเทศอื่นอยากได้เช่นเดียวกับเรา มีผู้พยายามจะเข้ามาแข่งให้แอสตร้าเซนเนก้าคัดเลือก แต่ด้วยความพยายามของทีมประเทศไทย เราได้เจรจาแสดงศักยภาพให้เขาเห็น รวมถึงรัฐบาลแสดงความมุ่งมั่นสนับสนุนบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จากเดิมผลิตเพียงแค่ชีววัตถุหรือยาที่ใช้ในการเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเท่านั้น ให้สามารถปรับศักยภาพมาผลิตวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ได้ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณ 595 ล้านบาท เอสซีจีสนับสนุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ จนแอสตร้าเซนเนก้าคัดเลือกเรา

 

“ความพยายามของประเทศไทย ไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน ต้องมีพื้นฐานอยู่เดิม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้ ทรงวางแนวทางไว้ว่าบริษัทการผลิตยาชีววัตถุ ต้องลงทุนมหาศาล รายได้ผลกำไรแต่ละปีไม่เพียงพอที่จะมาคืนทุนได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เป็นการขาดทุนเพื่อกำไร ให้ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตยาชีววัตถุ ลดการนำเข้าที่ผ่านมา เป็นมูลค่ามากกว่าช่วงที่ขาดทุนเสียอีก ประหยัดงบประมาณภาพรวมของงานด้านสาธารณสุข ซึ่งส่วนนี้คนที่ไม่เห็น อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าไปสนับสนุนบริษัทที่มีความขาดทุน แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเป็นไปตามหลักปรัชญาที่ในหลวงพระราชทานไว้ให้เรา” นพ.นคร กล่าว

 

 

นพ.นคร กล่าวว่า การเข้าถึงวัคซีนที่ 26 ล้านโดส รัฐบาลอนุมัติให้ไปจองซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส ทั้งหมดเพื่อจัดหามาให้เพียงพอต่อความต้องการ ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะมีความเพียงพอแน่นอน เพราะเรามีศักยาภาพการผลิตในประเทศ แม้ว่าจะเป็นสิทธิจำหน่ายจากแอสตร้าเซนเนก้า แต่อยู่บนฐานความร่วมมือและเราจะสามารถพึงพาตัวเองได้ในอนาคตหากมีโรคติดต่ออุบัติใหม่ ดังนั้นที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เข้ามาร่วมทีมประเทศไทย เป็นเรื่องต้องสรรเสริญ เพราะต้องหยุดการผลิตสินค้าเดิมที่สร้างรายได้ เพื่อมาพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน เพื่อให้ได้วัคซีนตามที่คาดไว้ อย่างที่ นายทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ สยามไบโอไซเอนซ์ ได้กล่าวถึงเทคโนโลยรการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ทางแอสตร้าเซนเนก้าส่งวัคซีนให้เรา 1 ซีซี เราต้องขยายกำลังการผลิตให้ได้ 2,000 ลิตร ต้องใช้ความสามารถอย่างมาก เจ้าหน้าที่ทุ่มเทกำลังทั้งหมดเพื่อให้ได้วัคซีนตามเวลาและจำนวนที่กำหนด

 

“เมื่อเราดูข้อมูล น่าพอใจอย่างมากเพราะเป็นตามแผน มั่นใจมากว่าเราจะได้วัคซีนในปลายเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เราจะได้วัคซีนแน่ และมีคุณภาพตรงกับแอสตร้าเซนเนก้ากำหนด นอกจากนี้ การสนับสนุนเอกชน สถาบันวัคซีนฯ ได้ของบมาเพื่อสนับสนุนทุกหน่วยงานในประเทศเพื่อวิจัยวัคซีนให้ได้ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกหน่วยงานที่พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ก็จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย เพื่อเป็นกำลังสำรอง แม้ว่าเราจะวิจัยได้ช้า แต่เราก็เข้าใจว่าเราจะได้วัคซีนที่ดีอยู่ในตัว และถ้าเราเดินหน้าไป เราก็จะมีวัคซีนของเราเองด้วย นอกจากนี้ ไบโอเทค ของ สวทช. ก็กำลังพัฒนาวัคซีนในรูปแบบไวรัลเวกเตอร์ ตั้งแต่ต้นน้ำจากห้องปฏิบัติการเองเลย และเมื่อทำตรงนี้มาเชื่อมต่อกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ก็จะเป็นจุดที่เราทำได้เอง ทั้งเทคนิค ศักยภาพ ทั้งหมด ก็เพื่อให้มีวัคซีนมาเพื่อคนไทย” นพ.นคร กล่าว

 

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ กล่าวอีกว่า การตั้งเป้าร้อยละ 50 ของประชากร เป็นเพียงเป้าของปี 2564 ต้องนึกถึงจำนวนวัคซีนที่กำลังจะมาอีก 66-70 ล้านโดส การกระจายในช่วงเวลาที่มีอยู่ต้องใช้ความสามารถอย่างมาก เราไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนว่าต้องหาวัคซีนมาทีเดียวให้ครอบคลุมร้อยละ 100 ของคนไทย จากการคาดการณ์ของยูนิเซฟว่า ปลายปี 2564 จะมีจำนวนวัคซีนเพียงพอต่อประชากรทั้งโลกด้วยซ้ำ ต้องย้ำว่าวัคซีนเพียงพอ แต่ขณะนี้เป็นการใช้ภาวะเร่งด่วน การรีบร้อนใช้อาจมีข้อเสีย

 

“จึงอยากให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์ หรือผู้มีข้อมูลไม่ครบ ต้องใช้ความสามารถในการตรวจสอบข้อมูลให้มากกว่านี้ และจะเห็นว่าบางประเทศที่ใช้วัคซีนไปก่อนหน้าเริ่มมีการเจ็บป่วยจากวัคซีน ซึ่งสะท้อนในเรื่องความมั่นใจต่อการใช้วัคซีน ถ้าเรารีบร้อนนำมาใช้ อาจจะเกิดความไม่ปลอดภัยเพราะวัคซีนเรานำมาใช้กับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง เราต้องมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย จริงอยู่อาจมีผลข้างเคียง หรือ อาการไม่พึงประสงค์ แต่เป็นผลข้างเคียงที่ยอมรับได้ ก็ไม่เป็นไร แต่ผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดผลร้ายแรง เป็นข้อที่ต้องระวัง การรีบร้อนใช้โดยไม่เห็นข้อมูล หรือไม่ใช้ข้อมูล อาจเกิดข้อเสีย ซึ่งสถาบันวัคซีน พยายามขอข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลที่ชัดเจน จัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ปลอดภัยให้กับคนไทย ผู้วิพากษ์วิจารณ์ ขอความกรุณาใช้ข้อมูลให้ครบถ้วน อย่าใช้ข้อมูลแต่เพียงด้านเดียว หรือใช้ข้อมูลตามที่นึกคิดเอาเอง โดยไม่ใช้ข้อมูลแวดล้อมที่ครบถ้วน” นพ.นคร กล่าว

 

นพ.นคร กล่าวถึงกรณีที่มีผู้กล่าวว่าสยามไบโอไซเอนซ์จะขายวัคซีนให้กับ สธ.ว่า เป็นอีกข้อที่เข้าใจผิด เพราะด้วยข้อมูลไม่ครบ

 

“เราซื้อวัคซีนจากเอสตร้าเซนเนก้า โดยจ้างบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ผลิตวัคซีน แต่การจ้างก็ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย ซึ่งลักษณะแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบให้เปล่าโดยไม่ต้องเสียค่าถ่ายทอด เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่มีต้นทุนที่ดี เขาไม่ถ่ายทอดให้แน่นอน การจัดซื้อเป็นแบรด์ของแอสตร้าเซนเนก้า การขายให้ไทยอยู่บนพื้นฐาน ไม่มีกำไร no profit no lost ไม่มีกำไร แต่จะไม่ขาดทุน เมื่อขายโดยคิดราคาต้นทุน ค่าจ้างในการผลิตก็คิดในราคาทุนเช่นเดียวกัน โดยสยามไบโอไซเอนซ์ก็ต้องผลิตในราคาต้นทุน เพื่อให้เอสตร้าเซนเนก้ามาขายได้ในราคาต้นทุน จึงไม่ใช่เรื่องของกำไร เป็นเรื่องการทุ่มเทเพื่อให้ได้วัคซีนมาจริงๆ เป็นนโยบายของออกซฟอร์ดด้วยเช่นกันเรื่องไม่คิดกำไร เมื่อไม่มีกำไร จึงไม่มีผลประโยชน์อะไรมาเคลือบแฟงในการเจรจาจัดซื้อวัคซีน เพราะทุกอย่างเป็นการจัดซื้อที่สะท้อนในราคาต้นทุนทั้งสิ้น ย้ำว่า เราซื้อในราคาต้นทุน เป็นต้นทุนการผลิตจริงๆ” นพ.นคร กล่าว

 

นอกจากนี้ นพ.นคร กล่าวว่า สถาบันวัคซีนฯ ได้รับงบ 600 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพสยามไบโอไซเอนซ์ ได้เขียนในสัญญาการรับทุนว่า เมื่อผลิตวัคซีนได้แล้ว ตามมาตรฐานของแอสตร้าเซนเนก้า จะคืนวัคซีนในจำนวนที่เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับทุน คืนให้กับรัฐบาลไทย ดังนั้น การสนับสนุนบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ไม่ใช่การให้เปล่า แต่เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ได้ และสยามไบโอไซเอนซ์ จะคืนจำนวนวัคซีนให้เท่ากับจำนวนที่ได้รับทุนไป ซึ่งไม่เคยเกิด ปกติเราให้ทุนลักษณะให้เปล่า แต่ สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นผู้เสนอเองว่า เพื่อลบข้อสงสัยว่าสนับสนุนบริษัทเอกชน จึงแสดงเจตจำนงไว้ในสัญญา ว่าจะคืนวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย ในจำนวนเท่ากับทุนที่ได้รับไป เพราะฉะนั้นข้อกล่าวหาอันเลื่อนลอย และคลาดเคลื่อนควรจะหมดไป และไม่ควรจะไปโยงกับเรื่องของการทำงานของสถาบันที่พวก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง