รีเซต

กรมควบคุมมลพิษ ปฏิเสธกำจัด-ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ห้วยน้ำพุ

กรมควบคุมมลพิษ ปฏิเสธกำจัด-ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ห้วยน้ำพุ
ข่าวสด
5 สิงหาคม 2564 ( 16:04 )
112

 

กรมควบคุมมลพิษ ปฏิเสธกำจัด-ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ห้วยน้ำพุ อ้างไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ยกเทียบเคส ลำห้วยเปื้อนพิษคลิตี้

 

 

วันที่ 5 ส.ค64 นายสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สมาคมได้เข้าช่วยเหลือชาวบ้านหมู่ที่ 1 ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษจากการปล่อยน้ำเสียที่มีการปนเปื้อนสารโลหะหนักและสารอินทรีย์ระเหยง่าย ของโรงงาน เป็นเหตุให้น้ำลำห้วยน้ำพุ พื้นที่ทำกิน แหล่งน้ำบาดาล ใต้ดิน และบ่อน้ำตื้นมีมลพิษไม่สามารถใช้ได้ จนนำมาสู่การฟ้องร้องโรงงานผู้ก่อมลพิษสู่ศาล

 

 

จนวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษาให้จำเลยผู้ก่อมลพิษชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้อง และให้แก้ไขฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ให้กลับสู่สภาพเดิมปราศจากกลิ่นเหม็นและสารพิษ สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามเกณฑ์ของทางราชการ

 

 

ในวันที่ 26 มกราคม 2564 สมาคมจึงทำหนังสือถึงอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด คือดำเนินการแก้ไขดูแลฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณห้วยน้ำพุ และบริเวณใกล้เคียงให้ปราศจากมลพิษ จนชาวบ้านสามารถใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้ ตามเกณฑ์มาตรฐานของทางราชการ โดยเก็บค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูจากบริษัท แวกซ์ กาเบจ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้ก่อมลพิษ

 

 

ล่าสุดสมาคมได้รับหนังสือจากกรมควบคุมมลพิษลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ตอบปฏิเสธที่จะเข้ามาดำเนินการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากมลพิษ โดยอ้างว่า แม้ในคำพิพากษาศาลแพ่งจะระบุว่า “ศาลยังมีความเห็นอีกว่า การดูแลรักษาและแก้ไขฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน้าที่โดยตรงของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องกระทำเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของชาติไว้ แม้ไม่มีคดีขึ้นสู่ศาลก็ตาม” กรมควบคุมมลพิษเห็นว่าเป็น คำปรารภของผู้พิพากษา ไม่ได้เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่จะต้องปฏิบัติตาม

 

 

เมื่อศาลไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่มลพิษ และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมควบคุมมลพิษ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้กรมควบคุมมลพิษมีภารกิจเกี่ยวกับการประสานงานเพื่อให้มีการดำเนินการฟื้นฟู ระงับเหตุที่อาจเป็นอันตรายจากมลพิษ ไม่ได้กำหนดให้กรมควบคุมมลพิษต้องดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนมลพิษแต่อย่างใด

 

 

นายสมชาย กล่าวว่า “ในเมื่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจเฉพาะในโรงงาน ไม่มีอำนาจในการสั่งการให้เจ้าของโรงงานแก้ไขสภาพภายนอกโรงงานและที่สาธารณะ หากกรมควบคุมมลพิษไม่มีหน้าที่แก้ไขฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะ เช่น ลำห้วย แล้วชาวบ้านและสภาพแวดล้อมจะพึ่งใครได้”

 

 

ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรณีมลพิษที่ห้วยน้ำพุเหมือนกับกรณีมลพิษที่ห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่บริษัทเหมืองแร่ปล่อยของเสียและมลพิษจาการทำแร่ลงสู่ลำห้วยสาธารณะ เมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน ครั้งนั้นกรมควบคุมมลพิษเข้ามาตรวจสอบและดำเนินการกำจัดมลพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

 

 

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนอธิบดี อธิบดีคนใหม่กลับประกาศยุติการฟื้นฟู โดยบอกว่าจะให้ธรรมชาติเป็นผู้ฟื้นฟู นำมาสู่การฟ้องร้องโดยชาวบ้านต่อศาลปกครอง ให้กรมควบคุมมลพิษทำหน้าที่ในการฟื้นฟูต่อไป สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณห้วยคลิตี้ ให้ปราศจากมลพิษ ชาวบ้านสามารถใช้น้ำ สัตว์น้ำได้อย่างปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างดำเนินการกำจัดมลพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

 

 

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษกำจัดมลพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมกรณีคลิตี้ เป็นการบอกว่ากรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่กำจัดมลพิษและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การที่กรมควบคุมมลพิษไม่ปฏิบัติหน้าที่ตนเองในกรณีห้วยน้ำพุ ทางสมาคมจะหารือกับชาวบ้านเพื่อฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ตลอดจนแจ้งความจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ จนเกิดความเสียหายต่อชาวบ้านและสภาพแวดล้อมต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง