รีเซต

คพ. เปิด 10 อันดับชายฝั่งทะเล-แหล่งน้ำ คุณภาพน้ำดีสุด แย่สุด ในไทย ปี 2567

คพ. เปิด 10 อันดับชายฝั่งทะเล-แหล่งน้ำ คุณภาพน้ำดีสุด แย่สุด ในไทย ปี 2567
TNN ช่อง16
1 มกราคม 2568 ( 20:26 )
21

กรมควบคุมมลพิษ โดย นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งทั่วประเทศ จำนวน 210 จุด ครอบคลุมพื้นที่การใช้ประโยชน์ตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล 6 ประเภท ผลการประเมินดัชนีคุณภาพน้ำทะเล (Marine Water Quality Index ; MWQI) ปี 2567 มีคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 49 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 43 เกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 6 และมีเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก อยู่ที่ร้อยละ 2 


โดยแหล่งน้ำทะเลที่มีคุณภาพน้ำทะเลดีที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ 

อันดับ 1 หาดสมิหลา จ.สงขลา รองลงมาคือ หาดในหาน จ.ภูเก็ต , อันดับ 3 หาดต้นไทร จ.กระบี่ , อันดับ 4 อ่าวมาหยา จ.กระบี่ , อันดับ 5 อ่าวโล๊ะซามะ จ.กระบี่ , อันดับ 6 เกาะยูง จ.กระบี่ , อันดับ 7 เกาะไก่ จ.กระบี่ , อันดับ 8 หาดท้ายเหมือง จ.พังงา , อันดับ 9 หาดบางเบน จ.ระนอง และ อันดับ 10 บ้านทุ่งริ้น จ.สตูล 


ขณะที่แหล่งน้ำทะเลที่คุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรมมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่

อันดับ 1 ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สมุทรปราการ รองลงมาคือ โรงงานฟอกย้อม กม. 35 จ. สมุทรปราการ , อันดับ 3 ปากคลอง 12 ธันวา จ.สมุทรปราการ , อันดับ 4 แหลมฉบัง ตอนใต้ จ.ชลบุรี และ อันดับ 5 ปากแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร 


อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุด้วยว่า คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 – 2567) มีแนวโน้มคงที่ โดยคุณภาพน้ำทะเล ในระดับตั้งแต่พอใช้จนถึงดีมาก รวมมากกว่าร้อยละ 90 พื้นที่ที่มีค่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ พื้นที่อันดามัน 


ส่วนบริเวณที่มีระดับคุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรมมาก อยู่ในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ซึ่งพารามิเตอร์ที่มีค่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานฯ มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสารอาหารและกลุ่มแบคทีเรีย โดยปริมาณสารอาหารอาจส่งเสริมให้เกิดภาวะการเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีได้มากขึ้น 



นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษยังมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำสำคัญทั่วประเทศ จำนวน 398 จุดตรวจวัด ใน 61 แหล่งน้ำสายหลัก และ 9 แหล่งน้ำนิ่ง ดำเนินการตรวจวัด 4 ครั้งต่อปี และประเมินโดยใช้ดัชนีคุณภาพน้ำ (Water Quality Index ; WQI) ปี 2567 พบว่า มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 43 (30 แหล่งน้ำ) เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 36 (25 แหล่งน้ำ) และเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 21 (15 แหล่งน้ำ) 


แหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำดีที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ 

อันดับ 1 แม่น้ำแควน้อย รองลงมาคือ แม่น้ำตาปีตอนบน , อันดับ 3 แม่น้ำแควใหญ่ , อันดับ 4 แม่น้ำกกและโขงเหนือ , อันดับ 5 แม่น้ำสงคราม หนองหาร และแม่น้ำลี้ , ส่วนอันดับ 6 แม่น้ำหลังสวนตอนบน , อันดับ 7 แม่น้ำกุยบุรี แม่น้ำตรัง และแม่น้ำสายบุรี แม่น้ำแม่กลอง และทะเลหลวง , อันดับ 9 แม่น้ำเพชรบุรีตอนบน แม่น้ำพอง แม่น้ำชุมพร และแม่น้ำปัตตานีตอนบน และอันดับ 10 แม่น้ำอูน และแม่น้ำลำปาว รวมทั้งหมด 20 แหล่งน้ำ


ข้อมูลและภาพ : กรมควบคุมมลพิษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง