รีเซต

'ศรีสุวรรณ' ร้องกกต.ฟัน 'อุตตม' อดีตหน.พปชร. รับรองประวัติเท็จ ให้ 'สิระ' ลงเลือกตั้ง

'ศรีสุวรรณ' ร้องกกต.ฟัน 'อุตตม' อดีตหน.พปชร. รับรองประวัติเท็จ ให้ 'สิระ' ลงเลือกตั้ง
มติชน
28 ธันวาคม 2564 ( 13:35 )
73
'ศรีสุวรรณ' ร้องกกต.ฟัน 'อุตตม' อดีตหน.พปชร. รับรองประวัติเท็จ ให้ 'สิระ' ลงเลือกตั้ง

ข่าววันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 28 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต./นายทะเบียนพรรคการเมือง เอาผิดหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (ในขณะนั้น) ฐานเจตนาให้การรับรอง นายสิระ เจนจาคะ ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. กทม. เขต 9 อันเป็นเท็จ รวมทั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกทม.ที่บกพร่องการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัตินายสิระ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของนายสิระว่า ไม่ได้มีมาตั้งแต่สมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ ม.98 (10)

 

ทั้งนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่านายสิระ เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน ว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ย่อมเป็นบุคคลที่ต้องห้ามมิให้สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การที่นายสิระ เจนจาคะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐได้ ชี้ให้เห็นว่านายทะเบียนของพรรคย่อหย่อนต่อการตรวจสอบคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ ข้อ 52(3) และต่อมาการที่หัวหน้าพรรค พปชร.ให้การรับรองลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 9 กทม.ได้ก่อนหน้านี้ ตาม ม.56 ย่อมเป็นเท็จ จึงอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ม.120 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

 

ส่วน ผอ.เลือกตั้งกกต.ประจำ กทม.นั้น เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 ม.46 วรรคแรก กำหนดว่า ให้เป็นหน้าที่ของผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งที่จะต้องตรวจสอบการสมัครของผู้สมัครว่า ได้ส่งเอกสารและหลักฐานถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และ ม.53 ของกฎหมายดังกล่าวยังระบุต่อไปอีกว่า ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้ง ตรวจสอบแล้วเห็นว่า ผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้น ผอ.เลือกตั้ง กทม. ซึ่งมีระยะเวลามากพอที่จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครให้ละเอียดรอบคอบได้ แต่ก็เพิกเฉยจนกระทั่งมีผู้ไปร้องเรียนจนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอนการคุณสมบัติดังกล่าว ผอ.เลือกตั้ง กทม.ย่อมต้องมีส่วนรับผิดชอบในความบกพร่องดังกล่าวด้วย

 

“ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำความมาร้องเรียนเพื่อให้คณะกรรมการ กกต./นายทะเบียนพรรคการเมือง ไต่สวน สอบสวนและวินิจฉัยเอาผิดหัวหน้าพรรคพปชร. (ในขณะนั้น) และ ผอ.เลือกตั้ง กทม.ต่อไป ตามครรลองของกฎหมาย” นายศรีสุวรรณ กล่าว

 

ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงเลือกตั้งปี 2562 คือ นายอุตตม สาวนายน โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคตั้งแต่ 29 กันยายน 2561 – 27 มิถุนายน 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง