ย้อนรอยข้อพิพาท ‘คลองโอ่งอ่าง’ แลนด์มาร์คเมืองหลวงที่คาดหวัง คาดฝัน
ย้อนรอยข้อพิพาท ‘คลองโอ่งอ่าง’ แลนด์มาร์คเมืองหลวงที่คาดหวัง คาดฝัน
ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาประเด็น ‘คลองโอ่งอ่าง’ ถูกหยิบยกมาพูดกันต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่เพจเฟซบุ๊กหนึ่งแชร์ภาพคลองโอ่งอ่างปัจจุบันในปี 2567 ที่พื้นที่ที่ปรับปรุงถูกใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์ไป เช่น กลายเป็นที่จอดรถยนต์ของคนในชุมชนใกล้เคียง และ กลายเป็นแหล่งที่พักของคนไร้บ้านที่ถูกไล่ที่มาจากการจัดระเบียบกรุงเทพมหานครชั้นใน
สารพัดเรื่องดราม่าของคลองโอ่งอ่าง คลองระบายน้ำที่ถูกวาดฝันให้เป็นแลนด์มาร์ค หรือ แหล่งท่องเที่ยวกรุงเทพฯกลายเป็นเรื่องที่สังคมต้องกลับมาถกเถียงกันอีกครั้งว่างบประมาณที่ทุ่มลงไปไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทในอดีตและงบใหม่ที่กำลังจะทุ่มไปสมทบคุ้มค่าและเกิดประโยชน์จริงหรือไม่
หรือท้ายสุดคลองแห่งนี้จะกลายเป็นเพียงข้อพิพาทเปรียบเทียบผลงานของผู้ว่าฯกทม. 2 ยุค
ทีมข่าว TNN Online ชวนรู้จัก และไล่ลำดับไทม์ไลน์การเกิดคลองโอ่งอ่างดังนี้
คลองโอ่งอ่าง เป็นช่วงหนึ่งของคลองรอบกรุง มีขอบเขตจากปากคลองมหานาคไปถึงปากคลองซึ่งหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ข้าง ๆ กับสะพานพระพุทธยอดฟ้า มีระยะทางรวมประมาณ 750 เมตร คลองโอ่งอ่างทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งเขตปกครองระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
ในปี พ.ศ. 2326 ถูกขุดเพื่อเชื่อมต่อคลองบางลำพูช่วงปากคลองมหานาค ต่อมากลายเป็นแหล่งสัญจรสำคัญ รวมถึงแหล่งขายโอ่ง-เครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญและชาวจีน จึงเป็นที่มาชื่อ คลองโอ่งอ่าง
พ.ศ. 2519 กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนให้คลองแห่งนี้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ
พ.ศ. 2526 กทม. เปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาทำการค้าในพื้นที่ได้ในเวลา 10 ปี ตั้งแต่นั้นเริ่มมีการรุกล้ำคลองเรื่อยมา มีการสร้างเหล็กปิดทับคลอง กลายเป็นที่มาของชื่อตลาดสะพานเหล็ก แต่เมื่อเวลาสัมปทานครบ 10 ปีผู้ค้าไม่มีการย้ายออกจากพื้นที่
พ.ศ. 2543 กทม. ส่งจดหมายถึงผู้ค้าสะพานเหล็กให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเป็นครั้งแรก แต่เกิดปัญหาโต้แย้งการย้ายผู้ค้าออกไม่เป็นผล
พ.ศ. 2558 กทม. ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามมติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ร้านค้าเกือบทั้งหมดย้ายไปเช่าพื้นที่ห้างฝั่งตรงข้าม
พ.ศ. 2561-2562 สำนักการระบายน้ำปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาสภาพแวดล้อม ความยาว 750 เมตร 2 ฝั่ง
พ.ศ. 2563 กทม. และเอกชน ริเริ่มสร้างแลนด์มาร์ก วาดภาพสตรีตอาร์ตบนกำแพงช่วงสะพานภาณุพันธ์ถึงสะพานดำรงสถิต
พ.ศ. 2564 กทม.ให้บริการเรือคายัคล่องชมความงามของคลอง
พ.ศ. 2565-2566 วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ กทม. มีการจัดกิจกรรมถนนคนเดิน
พ.ศ.2567 โครงการถนนคนเดินไม่ถูกสานต่อ พื้นที่กิจกรรมจัดเฉพาะอีเวนต์ขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร
คลองโอ่งอ่างในยุค ผู้ว่าฯอัศวิน
สมัย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 16 ซึ่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. จากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรียกได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกับคลองโอ่งอ่างแห่งนี้
หากไม่นับช่วงเดือนกันยายน 2558 ที่กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาการรุกล้ำตามแนวทางของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 11 มกราคม 2502 โดยแจ้งให้ทุกแผงค้าสะพานเหล็กรื้อย้ายแผงค้าภายใน 15 วัน
โดยเว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ‘ภาษีไปไหน’ แสดงข้อมูลที่กรุงเทพมหานครเบิกจ่ายมา เพื่อพัฒนา ก่อสร้าง และปรับปรุงคลองโอ่งอ่างเริ่มตั้งแต่ปี 2561 เรื่อยมา
แต่งบประมาณก้อนที่ใหญ่ที่สุดคือ งบ ‘โครงการประกวดราคาจ้างโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง จากบริเวณสะพานดำรงสถิตถึงบริเวณสะพานโอสถานนท์’ มีการทำสัญญาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 ราคาที่ตกลงซื้อ และ จ้าง ณ ขณะนั้นคือ 252,183,360.00 บาท เอกชนที่ชนะการประกวดราคาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.วาย.เอส.คอนสตรั๊คชั่น
นับตั้งแต่มีการพัฒนาคลองด้วยงบประมาณร้อยล้านดังกล่าว ตัวของคลองเองได้รับการปรับปรุงเรื่อยมาทั้งเรื่องการระบายน้ำ บำบัดน้ำเสีย ซ่อมแซมตัวเขื่อน และงานปรับปรุงทางเดินเท้า จนทำให้รัฐบาลเลือกคลองโอ่งอ่างจัดงานประเพณีที่สืบสานกันมายาวนานอย่าง การลอยกระทงในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อีกทั้งยังเกิดเป็นกระแสการท่องเที่ยวคลองโอ่งอ่างช่วงค่ำคืนด้วยลักษณะถนนคนเดินที่เทียบได้กับประเทศเกาหลีใต้
คลองโอ่งอ่างในยุค ผู้ว่าฯชัชชาติ
จนมาในยุคของผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่หน้างานรับผิดชอบดูแลคลองโอ่งอ่างตกไปอยู่ที่รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างศานนท์ หวังสร้างบุญ เป็นหลัก
ซึ่งนอกจาก กทม.ยังคงใช้คลองโอ่งอ่างแห่งนี้จัดงานลอยกระทงโดยปรับเป็นการลอยกระทงดิจิทัลเพื่อลดขยะในแม่น้ำลำคลองแล้ว ยังมีการจัดเทศกาลเดวาลีของอินเดียเนื่องด้วยใกล้กับย่านการค้าพาหุรัดที่มีชาวอินเดีย อยู่เป็นจำนวนมาก
ตลอดระยะเวลาการที่คลองนี้อยู่ใต้การกำกับดูแลของทีมผู้ว่าฯชัชชาติ มีการรณรงค์จัดงานแสดงศิลปะในพื้นที่จากภาคประชาชนและชุมชนมาเสมอ
ในส่วนแผนงานเชิงรูปธรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ประกอบด้วย
การปรับปรุงฟื้นฟูชุมชนตลอดแนวคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง-คลองบางลำพู) ให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนสามารถใช้ทำกิจกรรมหรือสัญจรเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยแบ่งโครงการก่อสร้างออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
-ช่วง ด้านเหนือของคลองคือ ป้อมพระสุเมรุ ถึง ป้อมมหากาฬ (บริเวณท่าเรือผ่านฟ้า)
-ช่วง ป้อมมหากาฬ ถึง ย่านวรจักร (บริเวณสถานีสามยอด)
-ช่วง สะพานโอสถานนท์ ผ่านไปรสนียาคาร เชื่อมเข้าสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
ส่วนแนวทางการปรับปรุงภูมิทัศน์ประกอบด้วย
-การส่งเสริมพืชพรรณสีเขียว-พื้นที่สาธารณะ
-การออกแบบทางข้ามถนนโดยยกระดับพื้นทางข้ามให้เท่ากับทางเท้า
-การเชื่อมต่ออาคารไปรสนียาคาร-พื้นที่สาธารณะ
-การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชน เช่น ห้องน้ำ จุดบริการจอดรถจักรยาน
สำหรับแนวคิดในการจัดกิจกรรม ถนนคนเดินจะจัดทุกสัปดาห์สุดท้ายของเดือนในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 16.00 น. – 21.00 น. ยกเว้นฤดูฝนช่วงเดือน มิถุนายน – กันยายน รวมถึงส่งเสริมการจัดเทศกาลพิเศษประจำปี อาทิ ลอยกระทง สงกรานต์ ตรุษจีน
จากข้อมูลที่ทีมข่าว TNN Online รวบรวมมานี้แน่นอนว่าการพัฒนาและปรับปรุง ‘คลองโอ่งอ่าง’ จะยังคงมีการดำเนินการเรื่อยไป
จนกว่าคลองแห่งนี้จะสามารถกลายเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ความหวังหรือความฝัน