รีเซต

สพฐ.เปิดปฏิทินรับนักเรียน ปีการศึกษา 2564 เลื่อนวันสอบ-มอบตัว รับเปิดเทอม 1 มิ.ย.นี้

สพฐ.เปิดปฏิทินรับนักเรียน ปีการศึกษา 2564 เลื่อนวันสอบ-มอบตัว รับเปิดเทอม 1 มิ.ย.นี้
TNN ช่อง16
11 พฤษภาคม 2564 ( 11:43 )
340
สพฐ.เปิดปฏิทินรับนักเรียน ปีการศึกษา 2564 เลื่อนวันสอบ-มอบตัว รับเปิดเทอม 1 มิ.ย.นี้

วันนี้ (11 พ.ค.64) นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เข้าร่วมแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน เพื่อชี้แจงแนวทางการเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ที่มีกำหนดเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ พร้อมทั้งสื่อสารให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ครู นักเรียน และประชาชนทั่วไปรับทราบ ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

 

 

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินงานของ สพฐ. ได้เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นอย่างดี โดยในช่วงระหว่างวันที่ 5-16 พ.ค. จะปรับการทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมสนับสนุนโรงเรียนและครูในการสอนออนไลน์ โดย สพฐ. จะปรับคลังสื่อการเรียนรู้ทั้งหมด จำแนกไว้สำหรับนักเรียนในแต่ละชั้นเรียนเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้โรงเรียนสามารถนำสื่อหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้เหล่านี้ไปใช้ได้อย่างรวดเร็วคล่องตัวยิ่งขึ้น

 

 

จากนั้นในระหว่าง 17-31 พ.ค. จะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในการพัฒนาครูให้มีทักษะการสอนที่น่าสนใจ รวมถึงร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาครูให้สามารถทำการสอนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสานกับ DLTV ในเรื่องการจัดตารางการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับการจัดตารางเรียนปกติที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้

 

สำหรับวิธีการจัดการเรียนการสอนจะใช้การเรียนใน 5 รูปแบบเช่นเดิม ดังที่ได้เคยทดลองมาแล้วในช่วงการแพร่ระบาดเมื่อปีที่ผ่านมา นั่นคือ

1. On Site คือการเรียนที่โรงเรียน ซึ่งจะใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ไม่มีการระบาดของโรค

2. Online คือการเรียนผ่านระบบออนไลน์

3. On Air คือการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)

4. On Demand คือการเรียนผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ

5. On Hand เป็นการจัดใบงานหรือแบบฝึกหัดเป็นชุดให้นักเรียนนำไปเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยมีครูคอยติดตามผลเป็นระยะ หากโรงเรียนใดสามารถจัดการเรียนในห้องเรียนปกติได้ ให้ใช้การเรียนที่โรงเรียนเป็นฐาน (On Site) แต่หากไม่สามารถสอนในห้องเรียนได้ ให้ดูความพร้อมและความต้องการของนักเรียนเป็นสำคัญ

 

 

นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในช่วงก่อนเปิดภาคเรียน (17-31 พ.ค.) สพฐ. ได้เตรียมกิจกรรมเสริมทักษะอาชีพ ให้นักเรียนได้เลือกทำตามความสมัครใจ โดยเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับทักษะชีวิต ซึ่งจะไม่มุ่งเน้นเรื่องการวัดประเมินผล แต่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ เช่น เรียนรู้การอยู่อย่างไรในช่วงโควิด-19 ให้มีความปลอดภัย หรือการทำอาหาร ปลูกผักสวนครัว วาดภาพ ทำงานบ้าน ฝึกอาชีพ ก็สามารถทำได้ ในลักษณะเป็นงานอดิเรกสำหรับนักเรียน หรือหากโรงเรียนใดจะใช้โอกาสนี้ในการซักซ้อมการเรียนออนไลน์หรือออนแอร์ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพื่อให้การเปิดภาคเรียนใหม่ในวันที่ 1 มิ.ย. สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

สำหรับการรับนักเรียน สพฐ. ได้ปรับปรุงปฏิทินการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2564 (ฉบับใหม่กรณีเปิดเทอม 1 มิ.ย. 64) โดยปรับตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้เลื่อนจากปฏิทินเดิม 2 สัปดาห์ ได้แก่

- ชั้น ป.1 เลื่อนการจับฉลากและประกาศผล เป็นวันที่ 15 พ.ค. รายงานตัว-มอบตัววันที่ 16 พ.ค.

- ชั้น ม.1 เลื่อนวันสอบเป็นวันที่ 22 พ.ค. คัดเลือกความสามารถพิเศษวันที่ 19 พ.ค. จับฉลากวันที่ 24 พ.ค. ประกาศผลภายใน 24 พ.ค. และมอบตัววันที่ 29 พ.ค.

- ชั้น ม.4 เลื่อนวันสอบเป็นวันที่ 23 พ.ค. คัดเลือก ความสามารถพิเศษวันที่ 19 พ.ค. ประกาศผลภายใน 25 พ.ค. รายงานและมอบตัวพร้อมกันวันที่ 30 พ.ค.

- โรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษที่จัดสอนสำหรับเด็กพิการ/ผู้ด้อยโอกาส สอบ/คัดเลือกวันที่ 15-19 พ.ค. ประกาศผลภายใน 23 พ.ค. รายงานตัวและมอบตัวภายใน 29 พ.ค.

- เด็กที่ยังไม่มีที่เรียนสามารถยื่นความจำนงได้ในวันที่ 25-27 พ.ค. ประกาศผลวันที่ 29 พ.ค. และมอบตัววันที่ 30 พ.ค. 2564

โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นศูนย์การรับนักเรียนสำหรับเด็กที่พลาดสอบเข้าโรงเรียนและยังไม่มีที่เรียน โดย สพท.จะจัดลำดับโรงเรียนที่ว่างไว้ให้ เพื่อให้เด็กได้มีที่เรียนทุกคน

“ในส่วนของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในโรงเรียน สพฐ. ได้เน้นย้ำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. อย่างเคร่งครัด ซึ่งโรงเรียนทุกแห่งต้องทำการประเมินความพร้อม ให้สอดคล้องตามคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการป้องกันโรค ตามที่ราชการกำหนด โดยจัดสภาพแวดล้อม อาคารสถานที่ ห้องเรียน และพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน ให้มีการเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร ตามแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อีกทั้งให้มีการกำกับ ติดตาม ประเมินผล และรายงานสถานการณ์แบบเรียลไทม์ เพื่อรับทราบข้อมูลจริงได้อย่างทันท่วงที” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง