รีเซต

Good news is a bad news กับนักลงทุนหุ้นสหรัฐ

Good news is a bad news กับนักลงทุนหุ้นสหรัฐ
TNN ช่อง16
14 มิถุนายน 2564 ( 11:21 )
79
Good news is a bad news กับนักลงทุนหุ้นสหรัฐ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนเต็มไปด้วยความกังวลเงินเฟ้อของสหรัฐ แต่พอประกาศออกมา  นักลงทุนกลับมีมุมมองเป็นบวกว่า การพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐจะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวและจะไม่ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในที่จะประชุมกันในวันที่ 15-16 นี้   สถานการณ์ของตลาดหุ้นสหรัฐหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร  นักลงทุนที่มีพอร์ตหุ้นสหรัฐจะเปลี่ยนหรือปรับกลยุทธ์อย่างไร  วันนี้รายการ..เศรษฐกิจInsight  พาไปติดตาม 

แม้ตลาดจะไม่กลัวเงินเฟ้อสหรัฐ แต่สิ่งสำคัญคือผลการประชุมเฟดสัปดาห์นี้ แม้ว่าจะประกาศตัวเลข CPI และ Core CPI ออกมาขยายตัว 5.0% และ 3.8% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะขยายตัว 4.7% และ 3.4% แต่ตลาดหุ้นสหรัฐยังสามารถปิดในแดนบวกได้ โดยคำถามสำคัญคือเฟดจะมองว่าตัวเลขเศษฐกิจดังกล่าวจะมีผลต่อตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเพียงชั่วคราวหรือไม่


ดังนั้นสัปดาห์นี้ จึงยังคงต้องติดตามผลการประชุมเฟดอย่างใกล้ชิด  คาดว่าเฟดจะเริ่มพิจารณแผนการทำ QE tapering แม้ยังไม่น่าจะมีผลในทันที แต่อาจจะมีกำหนดการที่ชัดเจนมากขึ้น โดยตัวแปรสำคัญยังอยู่ที่มุมมองของเฟดต่อภาพความแข็งแกร่งและต่อเนื่องในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ภายหลังผ่านพ้นวิกฤตจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่ปัจจุบันเฟดได้ดึงสภาพคล่องออกจากระบบการเงินผ่านการทำธุรกรรม Reverse Repo อยู่แล้ว ล่าสุดเป็นจำนวน 5.35 แสนล้านดอลลาร์


เราลองย้อนกลับไปดูปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นสหรัฐ สัดนิดหนึ่งเพื่อนักลงทุนจะได้พิจารณาประกอบการลงทุนได้แม่นขึ้น 



กราฟฟิคนี้แสดงให้เห็นว่า  ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาตลาดมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวอย่างร้อนแรงประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯมีแผนจะประกาศใช้นำโดย ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นไปบริเวณ 1.7% หลังจากนั้นผลตอบแทนเริ่มทยอยปรับตัวย่อลงมาแถวระดับ 1.442% ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2564 เนื่องจากนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลว่าเศรษฐกิจจะเติบโตร้อนแรงเกินไปโดยมีสาเหตุมาจาก




1.    ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 มีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างดัชนี ISM ManufacturingPMIหรือตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (มากกว่า 50% ถือว่าขยายตัว) ในรอบเดือนเมษายน ออกมาที่ระดับ 60.7% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 65.0% เป็นระดับที่ต่ำกว่าคาดพอสมควรถึงแม้ตัวเลขในระดับ 60% ยังถือว่าสูง แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงลดลง



2.    ในคืนวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ได้มีการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 559,000ตำแหน่งซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าน่าจะเพิ่มขึ้น 650,000ตำแหน่งและต่ำกว่าคาดเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันสะท้อนมุมมองในตลาดแรงงานว่ายังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวลง


ตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวที่ประกาศออกมาต่ำกว่าคาดเป็นเพียง Sentiment ที่ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลหลังจากที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะร้อนแรงเกินไป ยังมีตัวเลขเศรษฐกิจอีกหลายตัวที่ประกาศออกมาได้ดีกว่าคาดและบ่งชี้ถึงทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐยังมีแนวโน้มที่โตต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีISMNon-ManufacturingPMIหรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการออกมาเหนือระดับ 50 (ซึ่งถือว่าขยายตัว) และดีกว่าที่ตลาดคาด 5 เดือนติดต่อกันตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ที่ประกาศออกมามีตัวเลขที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดตัวเลขตัวเลขการเปิดรับสมัครตำแหน่งงานใหม่ในสหรัฐฯ หรือJOLT Job Opening ในรอบเดือนเมษายนที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 



จะเห็นได้ว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครตำแหน่งงานใหม่ในสหรัฐฯ หรือ JOLTs Job Openings ประจำเดือนเมษายน ออกมาที่ระดับราว 9.3 ล้านตำแหน่ง ซึ่งดีกว่าที่คาดไว้ค่อนข้างมากที่ 8.3 ล้านตำแหน่ง และมากกว่าในเดือนก่อนหน้า ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนพนักงาน โดยกลุ่มธุรกิจที่มีการเปิดรับพนักงานมากขึ้นเยอะที่สุดคือกลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว นอกจากนี้แล้ว ตัวเลขการลาออกก็ถือว่าพุ่งขึ้นสูงด้วย แสดงให้เห็นว่าแรงงานในสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถหางานใหม่ที่ได้ผลตอบแทนดีกว่าเดิมได้ไม่ยากในช่วงนี้ โดยกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการลาออกสูงคือธุรกิจด้านค้าปลีก


สรุปได้ว่าการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวที่ประกาศออกมาสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจสหรัฐนั้นไม่ได้โตร้อนแรงอย่างที่นักลงทุนเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เป็นปัจจัยส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงซึ่งส่งผลให้ดัชนีที่มีสัดส่วนหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีอยู่มากอย่างดัชนีNASDAQ ทำผลตอบแทนได้ดีในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเมื่อ Bond yield ปรับตัวลดลง(ตามกราฟฟิคถัดไป)



จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (เส้นสีน้ำเงิน) และดัชนีตลาดหุ้น Nasdaq (เส้นสีแดง)มีความสัมพันธ์ที่สวนทางกันกล่าวคือ 

    หากผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น ดัชนีตลาดหุ้น Nasdaq มักปรับตัวลง 

    ในทางกลับกันหากผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลง ดัชนีตลาดหุ้น Nasdaq มักปรับตัวขึ้น

เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาได้มีการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ (CPI) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงอัตราเงินเฟ้อและนักลงทุนใช้ดูเพื่อเป็นสัญญาบ่งชี้ว่า Fed จะมีทิศทางในการกำหนดนโยบายการเงินต่อไปอย่างไรโดยเฉพาะเรื่องการถอนปริมาณเข้าซื้อสินทรัพย์ หรือ Tapering ที่นักลงทุนมีความกังวลกันโดยมาดูที่กราฟฟิคถัดไป



พบว่าตัวเลข CPI ที่ประกาศออกมาในรอบเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาด 4.7% และสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงเดือน สิงหาคม 2551 โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขสูงขนาดนี้เนื่องจากผลกระทบของฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว (Base effect) ตามที่ได้วงไว้ในกราฟฟิคซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2563 นั้นตัวเลข CPI อยู่ที่ระดับ 0.1 % เท่านั้น นอกจากนี้เศรษฐกิจสหรัฐก็ได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากที่สหรัฐมีประสิทธิภาพในการฉีดวัคซีน COVID-19


และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐทำให้ชาวอเมริกันสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติกันได้ไวขึ้นมีความต้องการสินค้ามากขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าหลายๆชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะรถบรรทุกและรถยนต์มือ 2 ที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างสูงในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา การประกาศตัวเลข CPI ส่งผลให้ Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยก่อนจะปรับตัวลงมาที่ระดับ 1.44% ในวันดังกล่าวเนื่องมาจากตัวเลขที่ประกาศไม่ได้สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐเคยกล่าวไว้ว่าการขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงนี้จะเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน


อย่างไรก็ดีในเดือน มิถุนายน มีปัจจัยที่ต้องจับตาคือการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยเฉพาะประเด็นของการประเมินความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาประเด็นเหล่านี้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าและส่งผลดีต่อราคาทองคำให้ปรับตัวสูงขึ้น การประชุมในครั้งนี้จึงมีความสำคัญกับทิศทางการเคลื่อนไหวของทองทำในช่วงที่เหลือของปี เพราะหากมีการส่งสัญญาณลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบ หรือการลดวงเงิน QE เร็วกว่าที่คาดก็อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ยังต้องจับตาใกล้ชิด เพราะแม้ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้น แต่เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่มองว่ายังคงห่างไกลจากเป้าหมายของเฟด



ปัจจัยเหล่านี้ จะส่งผลต่อ sentiment ต่อนักลงทุนอย่างไร   ไปพูดคุยกับ ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษาทางการเงิน LH Bank

 ติดตามสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่ลิ้ง https://www.youtube.com/watch?v=St2uo7YkxcY

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง