รีเซต

'จ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ' รวมคำถาม-คำตอบ 20 ข้อ เคลียร์ชัดทุกข้อสงสัย

'จ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ' รวมคำถาม-คำตอบ 20 ข้อ เคลียร์ชัดทุกข้อสงสัย
TNN ช่อง16
1 พฤศจิกายน 2566 ( 19:05 )
188

'จ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ' กรมบัญชีกลางรวบรวมคำถาม-คำตอบ 20 ข้อ จะได้รับเงินเดือนวันไหน สามารถแสดงความประสงค์เปลี่ยนการรับเงิน ได้ตลอดหรือไม่


เพจเฟซบุ๊ก กรมบัญชีกลาง The Comptroller General’s Department รวบรวมคำถาม-คำตอบ เกี่ยวกับการปรับเงื่อนไข วิธีการเบิกจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำ 2 รอบ


1. มติคณะรัฐมนตรี เรื่องการปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ


ตอบ หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/351 ลงวันที่ 14 กันยายน 2566 ในการประชุม คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 นายกรัฐมนตรีได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายในเรื่องต่าง ๆ รวม 16 เรื่อง โดยเรื่องที่ 14 เรื่อง การปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ มติมอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) เร่งศึกษาหลักเกณฑ์เงื่อนไขและรายละเอียดในการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการโดยแบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการ ทั้งนี้ ให้เร่งรัดการพิจารณา ดำเนินการเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2567



2. แนวทางการปฏิบัติงานในกรณีรับเงินเดือน 2 รอบ อย่างไร


ตอบ เป็นโครงการให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำ สามารถเลือกความประสงค์โดยสมัครใจ ในการเลือกรับเงินเดือนเป็น 2 รอบ โดยการรับเงินรอบแรกเป็นวันที่ 16 ของทุกเดือน หากตรงกับวันหยุดจะเลื่อนเป็นวันทำการก่อนวันที่ 16 และ การรับเงินรอบสอง จะเป็นวันทำการก่อนวันทำการสามวันสุดท้ายของเดือน กรมบัญชีกลางจะแบ่งยอดเงินสุทธิ หลังจาก หักรายจ่ายและหนี้บุคคลที่ 3 (หนี้ที่มีหนังสือยินยอมให้ส่วนราชการหักชำระหนี้ แบ่งครึ่งเท่ากัน เพื่อโอนเข้าบัญชีผู้มีสิทธิ รอบแรกและรอบสองตามวันที่กำหนดไว้



3. กระทรวงการคลังได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร สหกรณ์ กบข. อย่างไร


ตอบ กรมบัญชีกลางได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กบข. กยศ. กสจ. กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ สถาบันการเงิน เรื่องการส่งข้อมูลระหว่างกัน กำหนดระยะเวลาในการรับ - ส่งข้อมูล ซึ่งทุกหน่วยงานพร้อมที่จะดำเนินการร่วมกับกรมบัญชีกลาง



4. ข้าราชการ และลูกจ้างประจำจะขอรับเงินค่าจ้าง 2 รอบ ตั้งแต่เมื่อใด


ตอบ ข้าราชการ เข้าร่วมโครงการรับเงินเดือน 2 รอบได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 โดยผู้ที่ประสงค์จะเลือกรับเงินเดือน 2 รอบ ให้ยื่นแบบแสดงความประสงค์ขอเปลี่ยนแปลงการรับเงินเดือนต่อส่วนราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 - 15 ธันวาคม 2566 และเก็บเอกสารการยื่นความประสงค์ไว้ที่ส่วนราชการ ไม่ต้องส่งเอกสารมาที่กรมบัญชีกลางหรือสำนักงานคลังจังหวัด


สำหรับลูกจ้างประจำ เข้าโครงการรับเงินเดือน 2 รอบในเดือนมีนาคม 2567 โดยต้องยื่นแบบแสดงความประสงค์ ขอเปลี่ยนแปลงการรับค่าจ้างประจำต่อส่วนราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 และเก็บเอกสารการยื่น ความประสงค์ดังกล่าวไว้ที่ส่วนราชการ ไม่ต้องส่งเอกสารมาที่กรมบัญชีกลาง หรือสำนักงานคลังจังหวัด


ทั้งนี้ ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ที่ประสงค์จะรับเงินค่าจ้างแบบเดิม คือ 1 รอบ ไม่ต้องยื่นแบบแสดง ความประสงค์ขอเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด



5. ข้าราชการบำนาญจะได้รับเงินบำนาญ 2 รอบด้วยหรือไม่


ตอบ โครงการนี้ไม่รวมข้าราชการบำนาญ ให้สิทธิเฉพาะข้าราชการและลูกจ้างประจำที่รับเงินเดือน และค่าจ้างผ่านระบบ e - Payrol ของกรมบัญชีกลาง จำนวน 230 หน่วยงาน และไม่รวมหน่วยงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบจ่ายตรงเงินเดือนและ ค่าจ้างประจำ ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ศาล องค์กรอัยการ องค์การมหาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,450 แห่ง



6. การรับเงินเดือน 2 รอบ เป็นการปรับเปลี่ยนให้ทุกคนต้องรับเงินเดือน 2 ครั้ง ใช่หรือไม่


ตอบ เป็นความสมัครใจของข้าราชการและลูกจ้างประจำ โดยต้องยื่นแบบแสดงความประสงค์ขอเปลี่ยนแปลงการรับ เงินเดือนหรือค่าจ้างประจำต่อส่วนราชการ สำหรับข้าราชการและลูกจ้างประจำที่ประสงค์จะรับเงินเดือนหรือค่าจ้างแบบเดิม คือ 1 รอบ ไม่ต้องยื่นแบบแสดงความประสงค์ ทั้งนี้ แบบแสดงความประสงค์ดังกล่าวให้เก็บไว้ที่ส่วนราชการ ไม่ต้องส่งเอกสารมาที่กรมบัญชีกลางหรือสำนักงานคลังจังหวัดแต่อย่างใด



7. กำหนดวันรับเงินเดือน 2 รอบเป็นวันใด


ตอบ หากเลือกรับเงิน 2 รอบ รอบแรกจะได้รับเงินในวันที่ 16 ของเดือน หากตรงกับวันหยุดจะเลื่อนขึ้นเป็นวันทำการ ก่อนวันที่ 16 และรอบสองจะรับเงินตามกำหนดวันเดิม คือ ก่อนวันทำการสุดท้ายสามวันทำการ เช่น ในเดือนมกราคม 2567 รอบแรกจะรับเงินวันที่ 16 มกราคม 2567 และรอบสองรับเงินวันที่ 26 มกราคม 2567 หรือในเดือนมีนาคม 2567 รอบแรกรับเงินวันที่ 15 มีนาคม 2567 และรอบสองรับเงินวันที่ 26 มีนาคม 2567



8. การเลือกรับเงินเดือนและค่าจ้างประจำ 2 รอบ สามารถแสดงความประสงค์เปลี่ยนการรับเงิน ได้ตลอดใช่หรือไม่


ตอบ แสดงความประสงค์ได้ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1 - 15 ธันวาคมของทุกปี โดยจะมีผลในการรับเงินเดือนและค่าจ้าง ประจำ ตั้งแต่เดือนมกราคมของปีถัดไป



9. หากเลือกรับเงินเดือน 2 รอบแล้ว อยากกลับมารับ 1 รอบเหมือนเดิมทำได้หรือไม่ มีขั้นตอนอย่างไร


ตอบ การเปลี่ยนแปลงการรับเงินเดือน ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1 - 15 ธันวาคมของทุกปี และจะมีผลในการรับ เงินเดือนตั้งแต่เดือนมกราคมของปีถัดไป โดยต้องยืนแบบแสดงความประสงค์ต่อส่วนราชการของตนเอง และแบบแสดง ความประสงค์ดังกล่าวให้เก็บไว้ที่ส่วนราชการ ไม่ต้องส่งเอกสารมาที่กรมบัญชีกลาง หรือสำนักงานคลังจังหวัดแต่อย่างใด



10. การยื่นแบบแสดงความประสงค์รับเงินเดือน 2 รอบ จะต้องยื่นแบบแจ้งได้ที่ใด


ตอบ ยื่นแบบแสดงความประสงค์ได้ที่ส่วนราชการของตนเอง ส่วนราชการจะเป็นผู้บันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบ e - Payroll และเก็บแบบแสดงความประสงค์เพื่อเป็นหลั กฐานไว้ที่ส่วนราชการ โดยไม่ต้องส่งเอกสารมาที่กรมบัญชีกลางหรือ สำนักงานคลังจังหวัดแต่อย่างใด



1 1. เมื่อข้าราชการและลูกจ้างประจำ ยื่นแบบแสดงความประสงค์เปลี่ยนการรับเงินเดือนและค่าจ้างประจำ 2 รอบ ส่วนราชการต้องดำเนินการอย่างไร


ตอบ เมื่อส่วนราชการได้รับแบบแสดงความประสงค์ฯ แล้ว ให้นำมาบันทึกข้อมูลการเลือก ในระบu e - Payroll ภายในระยะเวลาที่กรมบัญชีกลางกำหนดไว้ หลังจากนั้น ระบบจะปิดไม่ให้บันทึกการเลือก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นปีแรกที่เริ่มโครงการ ข้าราชการยื่นแบบได้ตั้งแต่วันที่ 1 - 15 ธันวาคม 2566


ส่วนราชการบันทึกข้อมูลในระบบ e - Payrol! ตั้งแต่วันที่ 1 - 29 ธันวาคม 2566 สำหรับลูกจ้างประจำยื่นแบบได้ตั้งแต่ วันที่ 1 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 ส่วนราชการบันทึกข้อมูลฯ ตั้งแต่วันที่ 1 - 29 กุมภาพันธ์ 2567


สำหรับในปีต่อ ๆ ไป ข้าราชการและลูกจ้างประจำ สามารถยื่นแบบแสดงความประสงค์ฯ เพื่อเลือกรับ 1 รอบ หรือ 2 รอบ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 - 15 ธันวาคมของทุกปี ส่วนราชการบันทึกข้อมูลฯ ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 ธันวาคมของทุกปี



12. หนี้และเงินหักอื่น ๆ ในระบบหักอย่างไร


ตอบ เมื่อกรมบัญชีกลางได้รับข้อมูลเงินเดือน ข้อมูลรายจ่ายและหนี้ (หนี้ที่มีหนังสือยินยอมให้ส่วนราชการหักชำระหนี้) กรมบัญชีกลางจะคำนวณยอดเงินสุทธิ และแบ่งเงินสุทธิเป็น 2 ยอดเท่ากัน เพื่อโอนเข้าบัญชีผู้มีสิทธิรอบแรกและรอบสอง


สำหรับรายจ่าย กบข./กสจ. กรมบัญชีกลางจะโอนเงินให้ กบข./กสจ. ตามรอบการจ่ายเงินเดือน ส่วนการจ่ายภาษี/กยศ. รวมถึงหนี้บุคคลที่ 3 กรมบัญชีกลางจะโอนเงินให้กรมสรรพากร/กยศ. และส่วนราชการในรอบสอง



13. กรณีเงินเดือน 18,000 บาท หนี้ 10,000 บาท ถ้าจะจ่ายเงินเดือน 2 รอบ คือวันที่ 15 มกราคม จ่าย 9,000 บาท และวันที่ 31 มกราคม จ่าย 9,000 บาท จะต้องตัดหนี้ 10,000 บาท ออกจากเงินเดือนรอบใด ซึ่งยอดหนี้มีจำนวน มากกว่าเงินที่ได้รับแต่ละรอบ


ตอบ เงินเดือน 18,000 บาท หนี้ 10,000 บาท เงินสุทธิเท่ากับ 8,000 บาท กรมบัญชีกลางจะแบ่งครึ่งยอดเงินสุทธิ และ โอนเข้าบัญชีผู้มีสิทธิรอบแรก 4,000 บาท และรอบสอง 4,000 บาท ส่วนหนี้จะโอนให้ส่วนราชการในรอบสอง



14. เรื่องการหักนี้ของส่วนราชการ กรมบัญชีกลางทำความตกลงกับธนาคาร/สถาบันการเงิน ให้ส่วนราชการ ใช่หรือไม่


ตอบ กรมบัญชีกลางจะหักหนี้ของสถาบันการเงิน ตามข้อมูลหนี้ที่ส่วนราชการจัดส่งมาให้ ซึ่งเป็นหนี้ที่ส่วนราชการและ สถาบันการเงินทำความตกลงกันไว้ และมีหนังสือยินยอมให้ส่วนราชการหักชำระหนี้


15. หนี้บุคคลที่สามที่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำในสังกัด ไปก่อหนี้ผูกพันกับสถาบันการเงิน มีสัญญาและมีกำหนดงวด ที่ต้องนำส่งจะดำเนินการจ่ายอย่างไร ในการเบิกจ่ายเงินเดือน 2 รอบ และใน 1 เดือนการหักหนี้บุคคลที่สาม อาจหัก ไม่ได้ครบตามจำนวนที่ส่งมา


ตอบ หากหนี้บุคคลที่ 3 เป็นของสถาบันการเงินที่ส่งข้อมูลให้หน่วยงาน กรมบัญชีกลางจะนำยอดหนี้ดังกล่าวมาคำนวณ หักจากเงินเดือน เมื่อได้ยอดเงินสุทธิ จึงแบ่งครึ่งยอดเงินสุทธิ และโอนเข้าบัญชีผู้มีสิทธิเป็น 2 รอบ สำหรับยอดหนี้ที่หักไว้ กรมบัญชีกลางจะโอนเงินให้กับส่วนราชการเพื่อนำไปจ่ายหนี้บุคคลที่ 3 ในรอบการจ่ายเงินเดือนรอบสอง



16. เจ้าหน้าที่กองคลังของส่วนราชการมีความกังวลว่าจะต้องทำงานมากขึ้น เพราะต้องจ่ายเงินเดือนให้กับ ข้าราชการในส่วนราชการ 2 ครั้ง เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นกระทรวงการคลังมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร


ตอบ รัฐบาลก็ให้ความสำคัญและให้โจทย์กับกรมบัญชีกลางว่า ต้องกระทบการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่วนราชการน้อยที่สุด แนวทางที่กรมบัญชีกลางดำเนินการ คือ เจ้าหน้าที่กองคลังของส่วนราชการทำงานเรื่องการเบิกจ่ายเงินเดือนเพียง 1 ครั้ง เหมือนเดิมเพียงแต่ต้องทำงานให้เร็วขึ้น ส่วนการดำเนินการคำนวณแบ่งจ่ายเงินเดือน กรมบัญชีกลางเป็นผู้ดำเนินการ


สรุป คือ "ทำงานเหมือนเดิม แต่ต้องทำเร็วขึ้น ส่งข้อมูลให้กับกรมบัญชีกลางเร็วขึ้น"



17. กรมบัญชีกลางกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของส่วนราชการไว้อย่างไร


ตอบ กรมบัญชีกลางได้หารือกับหน่วยงานและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ขอความร่วมมือในการส่งข้อมูลรายจ่ายและ ข้อมูลหนี้ให้เร็วขึ้น เป็นภายในวันที่ 2 ของทุกเดือน เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการจะบันทึกข้อมูลเงินเดือนและข้อมูลรายจ่าย ข้อมูลหนี้ในระบบ e - Payrol และบันทึกส่งข้อมูลให้กรมบัญชีกลางภายในวันที่ 7 - 8 ของเดือน


กรมบัญชีกลางจะตรวจสอบ ประมวลผล และคำนวณยอดเงินสุทธิ (เงินเดือน หัก รายจ่ายและหนี้) แบ่งครึ่งเท่ากัน เพื่อโอนเงินในรอบแรกและรอบสอง สำหรับรายจ่าย กบข./ กสจ. กรมบัญชีกลางจะโอนเงินให้ กบข./กสจ. ตามรอบการจ่ายเงินเดือน ส่วนรายจ่ายภาษี /กยศ. และนี้บุคคลที่สาม กรมบัญชีกลางจะโอนเข้าบัญชีกรมสรรพากร กยศ. และส่วนราชการเพื่อนำไปจ่ายหนี้บุคคลที่ 3 ในรอบการจ่ายเงินเดือนรอบสอง



18. หากส่วนราชการต้องการทำงานจ่ายเงินเดือนรอบเดียวเช่นเดิม ทำได้หรือไม่


ตอบ การจ่ายเงินเดือน 2 รอบ เป็นความประสงค์ของข้าราชการและลูกจ้างประจำ หากส่วนราชการมีข้าราชการและ ลูกจ้างประจำที่ประสงค์จะรับเงินเดือนสองรอบ ส่วนราชการมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามความประสงค์ของข้าราชการและ ลูกจ้างประจำ ซึ่งการจ่ายเงินเดือน 2 รอบ เจ้าหน้าที่กองคลังของส่วนราชการทำงานเรื่องการเบิกจ่ายเงินเดือนเพียง 1 ครั้งเหมือนเดิม เพียงแต่ต้องทำงานให้เร็วขึ้น ส่วนการดำเนินการคำนวณแบ่งจ่ายเงินเดือน กรมบัญชีกลางเป็นผู้ดำเนินการ


สรุป คือ "ทำงานเหมือนเดิม แต่ต้องทำเร็วขึ้น ส่งข้อมูลให้กับกรมบัญชีกลางเร็วขึ้น"



19. ส่วนราชการทำงานแบบไม่รับเงินเดือน 2 รอบ ได้หรือไม่ หากดำเนินการได้สามารถส่งงานได้ตามปกติ ใช่หรือไม่


ตอบ โครงการนี้เป็นมติของคณะรัฐมนตรี ดังนั้น หากส่วนราชการมีข้าราชการและลูกจ้างประจำที่ประสงค์จะรับเงินเดือนสองรอบ ส่วนราชการมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดไว้



20. หากเจ้าหน้าที่กองคลังของส่วนราชการมีปัญหาในการปฏิบัติงานจะติดต่อได้ที่ใด


ตอบ กรมบัญชีกลางจะมีการจัดอบรมให้ความรู้ในการปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่งานบุคคล และเจ้าหน้าที่กองคลังของ ส่วนราชการ ในรูปแบบของ Onsite และ Online ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2566 พร้อมกับมีคู่มือการปฏิบัติงานเพื่อเจ้าหน้าที่ได้กลับไปทบทวน หากมีข้อสงสัยในการปฏิบัติงานสามารถติดต่อสอบถามได้โดยตรงที่กองบริหารการเบิกจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จบำนาญ กรมบัญชีกลาง จะมีเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางเป็นพี่เลี้ยงในการปฏิบัติงาน



ภาพจาก กรมบัญชีกลาง The Comptroller General’s Department

 


ภาพจาก กรมบัญชีกลาง The Comptroller General’s Department

 


ภาพจาก กรมบัญชีกลาง The Comptroller General’s Department

 

ภาพจาก กรมบัญชีกลาง The Comptroller General’s Department

 







ที่มา กรมบัญชีกลาง The Comptroller General’s Department 

ภาพจาก Getty Images / TNN Online

ข่าวที่เกี่ยวข้อง