'กัญจนา' ลุยแก้ปัญหาช้างป่ารุกพื้นที่ทำกินจังหวัดเลย
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านพองหนีบ ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย นายณรงค์ จีนอ่ำ รอง ผวจ.เลย พร้อมกับหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ร่วมกับ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะทำงาน เพื่อดูบริเวณที่ช้างป่าออกมาหากินนอกป่าและพื้นที่ในชุมชน พร้อมร่วมประชุมการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนกับช้างป่า
จากปัญหาช้างป่าในจังหวัดเลย ช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ได้เพิ่มจำนวนมาก และได้แตกออกมาสร้างโขลงใหม่ จึงทำให้มีการเพิ่มอาณาเขต ทำให้ช้างป่าส่วนหนึ่งได้เข้ามากินพืชไร่ทางการการเกษตรของชาวบ้าน และได้ทำลายข้าวของ กระต็อบ ขนำ เสียหายจำนวนมาก
โดยพื้นที่รอบบริเวณติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เช่นบ้านวังมล ต.ภูหอ บ้านนาซำแซง ต.เขาหลวง อ.ภูหลวง จ.เลย และบ้านขอนแก่น บ้านน้ำทบ บ้านนาหลวง บ้านยางเดี่ยว และบ้านโนนสวรรค์ ตำบลเขาหลวง และตำบลทรายขาว อ.วังสะพุง และบ้านพองหนีบ ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง ต่างได้รับผลกระทบกับช้างป่า โดยปัจจุบันช้างป่ามีมากกว่า 100 ตัว ได้ออกมาหากินนอกพื้นที่ ทั้งเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เขตรักษาพันธุสัตว์ป่าภูค้อภูกระแต และจากอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์
โดยในที่ประชุมได้ยื่นข้อเสนอการอยู่ร่วมชุมชน คน กับช้างป่า โดยลดการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตร โดยปรับระบบไฟส่องสว่างในและรอบหมู่บ้านให้มีแสงสว่างเพียงพอที่ช้างจะไม่เข้าไปในหมู่บ้าน จัดทำระบบหอกระจายเสียงเพื่อแจ้งข่าวเฝ้าระวังช้างป่าให้กับชุมชน รวมทั้งมีการส่งเสริมการเปลี่ยนวิถีการปลูกพืชชนิดที่ไม่เป็นอาหารของ ช้างป่า เพื่อไม่ให้ดึงดูดฝูงช้างป่าออกมากินนอกพื้นที่ป่าไม้
ทั้งนี้ น.ส.กัญจนา กล่าวว่า จากการรับฟังปัญหา ข้อเรียกร้องของประชาชน ตนเห็นว่าสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ทั้งจัดทำแผนงานเฝ้าระวังและการอยู่ร่วมระหว่างชุมชนกับช้างป่า ทั้งในระดับชุมชน เครือข่ายชุมชน ตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ช้างป่าจังหวัดเลย โดยเชื่อมโยงพื้นที่ในระบบนิเวศร่วมกันของ จังหวัดเลย กับ จังหวัดเพชรบูรณ์ การสร้างรั้วไฟฟ้า การทำรั้วรังผึ้ง มาตรการการการผลักดันช้างแบบใช้เสียงดัง การเพิ่มระบบไฟฟ้าในหมู่บ้าน รวมทั้งมีหอกระจายข่าว หรือหอเตือนภัย ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ทราบมาว่าทางภาครัฐจะพิจารณาอนุมัติงบประมาณลงมาให้ทั้งประเทศ แก่เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่า 246 เครือข่ายๆ ละ 50,000 บาท ส่วนค่าชดเชยต่างๆ นั้นขอประชุมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน