ย้อนชมภาพ จันทรุปราคา เหนือท้องฟ้าเมืองไทยช่วงค่ำคืนวันวิสาขบูชา
วันนี้ (27พ.ค.64) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ จันทรุปราคา บางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย ในช่วงหัวค่ำคืนวันวิสาขบูชา 26 พฤษภาคม 2564 บันทึกภาพได้ในช่วงท้ายของปรากฏการณ์ ปรากฏชัดเต็มตา ดวงจันทร์เต็มดวงมีลักษณะเว้าแหว่งบางส่วน เนื่องจากดวงจันทร์ผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก
สำหรับบรรยากาศการติดตามจันทรุปราคาบางส่วนในประเทศไทยวันนี้ บางพื้นที่สามารถสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ อาทิ กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงราย ตาก สุพรรณบุรี นครราชสีมา อุดรธานี สกลนคร ฯลฯ แต่อีกหลายพื้นที่ของประเทศมีเมฆค่อนข้างมาก โดยเฉพาะทางใต้มีฝนตกหนัก ไม่สามารถชมจันทรุปราคาด้วยตาเปล่าได้ จึงหันมาติดตามทาง Facebook Live ของ NARIT ซึ่งมีการถ่ายทอดภาพจากหอดูดาวต่างๆ ทั่วโลก ให้ชมกันอย่างจุใจ
จันทรุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย ในวันวิสาขบูชา วันที่ 26 พฤษภาคม นี้ สามารถสังเกตเห็น ตั้งแต่เวลา 18:38 น. บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ดวงจันทร์จะปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา 19:52 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก และสุดท้ายดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20:49 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ และเป็นจังหวะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก ทำให้ผู้สังเกตบนโลกในพื้นที่กว่าครึ่งโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งหายไปในเงามืดแล้วโผล่กลับออกมาอีกครั้ง โดยจะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง บางปีอาจมีได้มากถึง 5 ครั้ง ปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่จะสังเกตเห็นในประเทศไทยครั้งถัดไป เป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565