รีเซต

‘มะแขว่น’ ใช้แทนเครื่องเทศ รสชาติเผ็ดร้อนคล้ายพริก รู้จักดีในเขต..จาวเหนือ

‘มะแขว่น’ ใช้แทนเครื่องเทศ รสชาติเผ็ดร้อนคล้ายพริก รู้จักดีในเขต..จาวเหนือ
เทคโนโลยีชาวบ้าน
17 กันยายน 2564 ( 13:44 )
385
‘มะแขว่น’ ใช้แทนเครื่องเทศ รสชาติเผ็ดร้อนคล้ายพริก รู้จักดีในเขต..จาวเหนือ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Zanthoxylum limonella Alston

ชื่อวงศ์ Rutaceae (วงศ์ส้ม)

 

ชื่ออื่นๆ หมากมาศ (กรุงเทพฯ) ลูกระมาศ มะแข่น มะข่วน บ่าแข่น หมักช่วง (แม่ฮ่องสอน) กำจัดและกำจัดต้น

 

คะเจ้าเป็นไม้เมืองเหนือที่ฮุ้จักว่าใช้เป็นเครื่องเทศ เผ็ดร้อนคล้ายเม็ดพริกไทยดำ จาวเหนือหลายจังหวัด ทั้งเจียงฮาย แม่ฮ่องสอน น่าน ใช้แทนพริกไทยดำ โดยนำเมล็ดไปคั่วไฟอ่อนๆ พอมีกลิ่นหอมแล้วใส่ในส้มตำปลาร้า และยำจิ้นไก่ แต่ช่วงที่มีคนรู้จักคะเจ้ามากคือ มีคนชื่อ “การุณย์ มะโนใจ” เขียนเรื่องราวของคะเจ้าเผยแพร่ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ว่าเป็นพืชพรรณดีเมืองพะเยา คือมะแขว่นพันธุ์ใหม่ และมะแขว่นพันธุ์พื้นเมือง ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง

 

แม้ว่าคนทั่วไปทางภาคอื่นๆ จะไม่รู้จักคะเจ้าดีนัก แต่ก็มีบทเพลงพื้นบ้านทางเหนือยังขับร้องไว้ว่า “มะแข่วนดีปี๋ ไผมีขะใจ๋เอามาคั่วเหียนา ใส่ลาบบ่ขื่น” แปลว่า ใครมีมะแข่นกับดีปลีให้รีบเอามา แล้วคั่วใส่ลาบ จะได้ไม่มีรสขื่น  เพราะคะเจ้ามีกลิ่นหอมฉุนคล้ายผักชี มีรสเผ็ดร้อนเล็กน้อย

 

 

เรื่องชื่อของคะเจ้าก็แปลกดี เคยมีคนเขียนชื่อคะเจ้าผิดว่า “ไม้แขวน” จึงสับสนไปหมด ดีนะว่าชื่ออีกชื่อคือมะข่วน ยังไม่เคยมีใครเขียนผิดเป็น “แมวข่วน” เคยมีคนกรุงเทพฯ หลอกให้คะเจ้ามาถ่ายแบบที่เมืองกรุงแล้วตั้งชื่อว่า “คุณหนูหมากมาศ” แต่ชื่อที่คะเจ้ารู้สึกอบอุ่นมากที่สุดคือ “ลูกระมาศ” ฟังดูแล้วเหมือนหญิงสาวละอ่อนดี แต่ไม่เกี่ยวกับอำเภอ “แม่ระมาด” ที่จังหวัดตากนะเจ้า

 

คะเจ้ามีประวัติเดิมว่าต้นกำเนิดอยู่ที่ไต้หวัน มีคนไทยนำเมล็ดมาเพาะที่จังหวัดพะเยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จึงกลายเป็นพันธุ์ใหม่ สำหรับพันธุ์พื้นเมืองก็ดังอยู่แล้ว แถวๆ ในเมืองน่าน ที่เชียงรายขายต้นกล้า ต้นละ 30 บาทเชียวนะ มีทั้งพันธุ์หนัก พันธุ์เบา ขึ้นได้ในป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา เป็นไม้ยืนต้นสูง 5-10 เมตร แต่ตัวคะเจ้าไม่สวยนักเพราะมีหนามที่ลำต้น กิ่งก้านพอออกผลก็มีลักษณะแห้ง กลม ผิวขรุขระสีน้ำตาล เมื่อแก่ผลจะแตกจนเห็นเมล็ดสีดำกลม ผิวเรียบเป็นมัน กลิ่นหอมฉุน

 

 

ผลสุกมะแขว่น

 

นอกจากนำเมล็ดใส่ลาบ ส้มตำ ยำจิ้นไก่แล้ว ก็ใส่ยำเนื้อไก่ หลู้ แกงขนุน ถ้าเป็นภาคใต้ก็ใช้ผสมเครื่องแกง เช่น แกงฟักทอง แกงปลาไหล ส่วนใบอ่อน ผลอ่อน ก็ใช้เป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ม่วนแต๊ๆ

 

นอกจากพอรู้ว่าเปลือกผลของเม็ดมะแข่นใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้ลมวิงเวียน ใบนำมาเคี้ยวทำให้รู้สึกชาแก้ปวดฟันได้ และเม็ดนำมาตำร่วมกับพริกไทยล่อน ดีปลี แล้วหุงกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ทานวดคลายเส้นตึง แก้ฟกบวม และถอนพิษฝีได้ชะงัด

 

ทั้งนี้ เนื่องจากเปลือกผลและเม็ดของ “มะแข่วน” มีรสเผ็ดหอมหมอยาไทยจึงเรียก “มะแข่น” อีกชื่อหนึ่งว่า “พริกหอม” ซึ่งปรากฏอยู่ในตำรับยาหลวงหลายขนานใน “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” และใน “พระคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์”

 

จึงมีปัญหาว่า “มะแข่น” หรือ “มะแขว่น” ในภาษาพื้นเมืองเป็นตัวเดียวกับ “พริกหอม” ในตำรับยาตำราหลวงหรือไม่

 

ในตำราวิชาการของกรมป่าไม้ “มะแข่น” และ “พริกหอม” มีชื่อทางพฤกษศาสตร์เหมือนกันว่า Zanthoxylum Limonella Alston

 

แต่ใน “คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์” ของ ดร.ชยันต์ พิเชียรสุนทร ระบุต่างกันว่า “มะแข่วน” มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Zanthoxylum Budrunga Wall แต่ “พริกหอม” ในตำรับยาโอสถพระนารายณ์ มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Zanthoxylum Piperatum DC. ที่มีชื่อสามัญว่า Japanese Pepper ซึ่งขึ้นอยู่ตามภูเขาในประเทศญี่ปุ่นและเป็นสมุนไพรนำเข้ามาแต่โบราณ

 

อย่างไรก็ตาม พืชสมุนไพรเครื่องเทศป่าจำพวก “มะแข่วน” “มะข่วง” “กำจัดต้น” หรือ “พริกหอม” หรือพริกไทยญี่ปุ่น ล้วนเป็นพืชในสกุล (GENUS) เดียวกัน แม้ต่างชนิด (SPECIES) กันก็ตาม แต่ก็มีรสยาและสรรพคุณทางยาไม่แตกต่างกันสามารถนำมาแทนกันได้

 

ลำต้นมะแขว่น

 

 

ผลดิบมะแขว่น

 

 

ลาบปลากะพงมะแขว่น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง