ประธาน กมธ.แรงงาน ห่วงคุมโควิด–19 ไม่อยู่ จี้รัฐใช้ กม.เข้มคุมต่างด้าว
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด–19 ใน จ.สมุทรสาคร คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา มีความห่วงใยผู้ใช้แรงงาน ในวันนี้จึงได้เชิญผู้แทนกระทรวงแรงงานมาชี้แจงแนวทางการดำเนินงานในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงาน จ.สมุทรสาคร เพื่อคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภาจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการบูรณาการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป โดยกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงาน
นายไพโรจน์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน (กกจ.) และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ลงพื้นที่เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้างสถานประกอบการเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างรู้จักวิธีการป้องกันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมและประสานข้อมูลรายงานกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) อย่างใกล้ชิด ในส่วนของ จ.สมุทรสาคร ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างเป็นจำนวนมาก โดยแต่ละแห่งมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มงวดรัดกุมอยู่แล้ว
“สำหรับมาตรการเพิ่มเติมเชิงรุกของกระทรวงแรงงานได้มีการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจ (ฉก.) ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่อออกตรวจแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมมือกับสถานพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อจัดทีมแพทย์ พยาบาล รถโมบาย และตู้ตรวจโรคไปตั้งยังสถานประกอบการ ให้ลูกจ้างที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อได้เข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 โดยให้ทราบผลภายใน 2-3 ชั่วโมง ซึ่งหากตรวจพบเชื้อจะเข้าสู่กระบวนการควบคุมดูแลรักษาตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด” นายไพโรจน์ กล่าว
นอกจากนี้ นายไพโรจน์ กล่าวว่า ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยจะพิจารณาประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย เนื่องจากรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่ ซึ่งลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน รวมกันไม่เกิน 90 วัน ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สปส.จะนำเรื่องขอความเห็นชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม คือ การจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหา
การประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด การจัดทำฐานข้อมูลด้านแรงงาน (Big Data) มีการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการสกัดกั้นมิให้มีการเข้า–ออกตามแนวชายแดน การควบคุมการแพร่ระบาดโดยการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้วิธีการป้องกันตนเองจากโควิด–19 รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดอีกด้วย