รีเซต

17 พ.ค.นี้ คลังปิดช่องทบทวนสิทธิ 5 พัน ยันไม่ทิ้ง 1.7 ล้านคนที่ 'หมดลุ้น' ไว้ข้างหลัง

17 พ.ค.นี้ คลังปิดช่องทบทวนสิทธิ 5 พัน ยันไม่ทิ้ง 1.7 ล้านคนที่ 'หมดลุ้น' ไว้ข้างหลัง
มติชน
14 พฤษภาคม 2563 ( 08:42 )
415
1

 

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนเงินเยียวยา 5 พันบาท ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่กรมประชาสัมพันธ์ในวันนี้ยังคงดำเนินต่อไป คาดว่าจะมีประชาชนที่ไม่สามารถรับสิทธิได้ต่างเดินทางมาอย่างหนาแน่น โดยจนถึงวันพรุ่งนี้ (15 พ.ค.) กระทรวงการคลังจะปิดรับเรื่องร้องเรียนที่กรมประชาสัมพันธ์ และคาดว่าปิดทบทวนสิทธิการเยียวยาในวันที่ 17 พฤษภาคม นี้

 

ทั้งนี้ การเปิดรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนของกระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน-12 พฤษภาคม 2563 หรือตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา มีผู้มายื่นร้องเรียนรวมประมาณ 1.5 หมื่นคน

 

นายลวรณ แสงสนิท โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม มีผู้ผ่านเกณฑ์คัดกรองได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน จากรัฐบาลแล้ว 14.2 ล้านคน ส่วนการทบทวนสิทธิคนที่ลงทะเบียนแล้วยังไม่ได้รับเงินเยียวยา และยื่นขอทบทวนสิทธิทั้งในระบบออนไลน์ และยื่นร้องเรียนที่โต๊ะรับเรื่องราวร้องเรียนของกระทรวงการคลัง ที่จัดตั้งขึ้นที่กรมประชาสัมพันธ์ จะแล้วเสร็จ 98-99% ภายใน 17 พฤษภาคมนี้

 

นายลวรณ กล่าวว่า ในส่วนคนที่ลงทะเบียนในระบบ แต่ระบบระบุว่าเป็นการลงทะเบียนไม่สำเร็จนั้น มีอยู่ 1.7 ล้านคน กระทรวงการคลังจะไม่ทอดทิ้งจะหาช่องทางเยียวยาที่เหมาะสมต่อไป สอดคล้องกับชื่อของโครงการว่า “เราไม่ทิ้งกัน”

 

นายลวรณ ยังกล่าวถึงคนที่ลงทะเบียนและผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินโอนเข้าบัญชี ก็พบว่า มีความผิดพลาดในเรื่องบัญชีที่กำหนดให้โอนเงินเข้า เช่น ใช้บัญชีที่มีชื่อร่วม หรือไม่ได้ใช้บัญชีที่มีชื่อของตนเอง ใช้บัญชีที่เป็นชื่อของลูก ตามข้อกำหนดต้องเป็นบัญชีในชื่อของคนที่ได้รับเงินเยียวยาเท่านั้น ยังมีบางกรณีใส่ชื่อและเลขที่บัญชีถูกต้อง แต่เป็นบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวมานานกว่า 1 ปี ทำให้บัญชีถูกระงับ หากต้องการแก้ไขสามารถเข้าระบบแก้ไขได้เพียงครั้งเดียว

 

แต่วิธีที่ง่ายกว่านั้นคือ การไปสมัครพร้อมเพย์ธนาคารใดก็ได้ ที่ผูกกับบัตรประชาชน แล้วไม่ต้องทำอะไร เพราะระบบจะตรวจสอบเอง หลังจากนั้นจะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ ให้นายลวรณ กล่าวว่า นับตั้งแต่เปิดให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาตั้งแต่ 28 มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน มีคนลงทะเบียนรวม 28.8 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้มีคนที่ลงทะเบียนซ้ำและหรือเป็นคนที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา เช่น เป็นคนในระบบประกันสังคม หรือเป็นพนักง่านรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น คาดว่าจะมีคนผ่านสิทธิและได้รับเงินเยียวยาทั้งหมดไม่เกิน 16 ล้านคน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง