รีเซต

พิจิตรอ่วม! แม่น้ำยม-น่าน เอ่อท่วมบ้านเรือน เดือดร้อน 12 อำเภอ

พิจิตรอ่วม! แม่น้ำยม-น่าน เอ่อท่วมบ้านเรือน เดือดร้อน  12 อำเภอ
TNN ช่อง16
21 ตุลาคม 2566 ( 11:28 )
102
พิจิตรอ่วม! แม่น้ำยม-น่าน เอ่อท่วมบ้านเรือน เดือดร้อน  12 อำเภอ

ที่จังหวัดพิจิตร วันที่ 21 ตุลาคม 2566 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ยังไม่คลี่คลายหลายอำเภอ ยังคงได้รับผลกระทบ จากแม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน เอ่อล้นตลิ่ง ประชาชนได้รับเดือนร้อนเป็นบริเวณกว้าง โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิจิตร  รายงานว่าพื้นที่น้ำท่วมรวมทั้งหมด 12 อำเภอ 52 ตำบล 286 หมู่บ้าน มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบจำนวน 4,497 หลัง มีพื้นที่การเกษตร 24,978 ไร่ พืชสวน 321 ไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม ในอำเภอสามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และอำเภอโพทะเล  ระดับน้ำยังคงท่วมแช่ขังสูงอยู่ และท่วมขังมานานกว่าหนึ่งเดือน โดยเฉพาะพื้นที่เกือบทุกหมู่บ้านในตำบลรังนก อำเภอสามง่าม ระดับน้ำยมที่เอ่อท่วมเฉลี่ย 50ซม.-150 ซม.ประชาชนยังต้องใช้เรือพายเข้าออกหมู่บ้าน ด้านนางชัน  เอี่ยมดี  ชาวบ้านจระเข้ผอม หมู่ที่ 2 ตำบลรังนก ได้เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่าน้ำในแม่น้ำยม ได้ล้นตลิ่งมาท่วมบ้านเรือนลึกก็ 120-150 ซม.และถนนหนทางภายในหมู่บ้าน ท่วมมานานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว จะออกไปไหนมาไหนก็ต้องใช้เรือพายเข้าออกหมู่บ้านเพียงอย่างเดียว ซึ่งประชาชนก็เดือดร้อนเป็นอย่างมาก ส่วนการช่วยเหลือภาครัฐ ก็นำถุงยังชีพมาแจกรอบเดียวในช่วงน้ำท่วมใหม่ๆเท่านั้น อย่างไรก็ตามช่วงนี้อากาศเริ่มเย็นลงประชาชนเริ่มเจ็บป่วยกันมาก ซึ่งน้ำที่ท่วมวันนี้ลดลงนิดเดียงเพียง 2 นิ้ว( 4-5ซม.) ถือว่าไม่มาก แต่คงท่วมขังอีกนานเป็นเดือนๆ ถึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ  




ด้านนายเอกฉัตร เอี่ยมตาล  ผอ.โครงการชลประทานจังหวัดพิจิตร รายงานระดับน้ำในแม่น้ำยม ที่สถานีวัดน้ำ Y-17 อำเภอสามง่าม อยู่ที่ 5.86 เมตร อัตราการไหล 394.40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อยู่ในเกณฑ์วิกฤต เช่นเดียวกับแม่น้ำน่าน ที่ไหลผ่านอำเภอเมืองพิจิตร ตะพานหิน และอำเภอบางมูลนาก ที่สถานีวัดน้ำ N-8 อำเภอบางมูลนาก ระดับน้ำน่านวัดได้ 10.23 เมตร ลดลงจากเมื่อวาน 7 ซม. มีอัตราการไหล 894.70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อยู่ในเกณฑ์วิกฤตเช่นกัน อย่างไรก็ตามหากในพื้นที่จังหวัดพิจิตร และพื้นที่ถาคเหนือไม่มีฝนตกซ้ำมาอีกคาดว่าระดับน้ำก็จะค่อยไลดระดับลงภายใน 2 สัปดาห์ เนื่องจากมวลน้ำสะสมในพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ หรือเรียกว่าน้ำทุ่งยังคงมีมวลน้ำสะสมค่อนข้างมาก



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง