รีเซต

WTO ปลื้มการค้าโลกฟื้นหลังโควิด โอกาสโต 10.8% ห่วงกระจายวัคซีนยังเหลื่อมล้ำสูง

WTO ปลื้มการค้าโลกฟื้นหลังโควิด โอกาสโต 10.8% ห่วงกระจายวัคซีนยังเหลื่อมล้ำสูง
มติชน
19 ตุลาคม 2564 ( 18:37 )
39
WTO ปลื้มการค้าโลกฟื้นหลังโควิด โอกาสโต 10.8% ห่วงกระจายวัคซีนยังเหลื่อมล้ำสูง

ข่าววันนี้ นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลก ( WTO) ได้ปรับเพิ่มค่าคาดการณ์การขยายตัวของการค้าโลกปี 2564 เป็นร้อยละ 10.8 เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการที่ประเทศสมาชิก WTO มีแนวโน้มการใช้มาตรการจำกัดการค้าลดน้อยลง และใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการส่งออกสินค้าของไทย ที่น่าจะสามารถขยายตัวได้ในระดับสูงในปีนี้ ถึงแม้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จะยังขยายตัวต่ำกว่าการขยายตัวของการส่งออกของโลก และการส่งออกจะเป็นความหวังในการผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ

 

นางพิมพ์ชนก กล่าวต่อว่าโดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ การยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งยังคงประสบกับปัญหาคอขวดหลายประการ นอกจากนี้ การค้าบริการยังฟื้นตัวได้ช้า โดยการเดินทางหดตัวร้อยละ 62 ในครึ่งปีแรกของปี 2564 เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทาง การท่องเที่ยวจึงยังไม่สามารถเป็นเครื่องยนต์ผลักดันเศรษฐกิจไทยได้ในระยะสั้น

 

ทั้งนี้ ในผลการศึกษา ระบุว่า 1.WTO คาดการค้าโลกขยายตัวร้อยละ 10.8 ในปี 2564 และร้อยละ 4.7 ในปี 2565 และมูลค่าการค้าโลกกลับขึ้นสูงกว่ามูลค่าการค้าก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงครึ่งปีแรกของ 2564 โดยคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีโลกปี 2564 ปรับสูงขึ้นไปที่ร้อยละ 5.3 จากค่าคาดการณ์ร้อยละ 5.1 ในเดือนมีนาคม และยังมีแรงส่งสำคัญจากการที่ทั่วโลกมีการลดการใช้มาตรการสร้างข้อจำกัดทางการค้า และใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากขึ้นในช่วงปี 2563 ทั้งนี้ จากข้อมูลราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ต่างแสดงให้เห็นว่าน้ำมันดิบ ทองแดง และเหล็กกล้า มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2563 ถือเป็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 

2. Goods Trade Barometer พุ่งขึ้นอยู่ที่ 110.4 สูงที่สุดตั้งแต่ WTO เริ่มคำนวณดัชนีนี้ในปี 2016 สะท้อนถึงการฟื้นตัวของการค้าโลก โดยดัชนีย่อยทั้งหมดต่างมีค่าสูงกว่าค่าแนวโน้ม อาทิ ดัชนีการขนส่งทางอากาศ การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ การผลิตรถยนต์ ยกเว้น ดัชนีส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ลดลงเล็กน้อยจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และดัชนีการสั่งซื้อเพื่อการส่งออกก็ลดลงเล็กน้อยเช่นกัน ผนวกกับการที่ Goods Trade Barometer มีการขยายตัวในอัตราที่ลดลง แสดงให้เห็นว่าการค้าโลกอาจใกล้แตะจุดสูงสุด และจะไม่เพิ่มสูงขึ้นเหมือนก่อน

 

3.ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 การส่งออกไทยขยายตัวช้ากว่าการส่งออกโลก โดยการส่งออกโลกขยายตัวร้อยละ 17 และ 45 ในไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2564 ตามลำดับ ในขณะที่ไทยขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 และ 31.85 ตามลำดับ ดังแสดงในตารางที่ 1 ดังนั้น ไทยจึงมีช่องว่างในการผลักดันการส่งออกได้อีก

 

4. ตลาดนำเข้าหลายภูมิภาคขยายตัวแข็งแกร่งตามแนวโน้มการค้าโลกที่เพิ่มขึ้น ในปี 2564 โดยเฉพาะตลาดอเมริกาใต้ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวสูงที่สุดที่ร้อยละ 19.9 ตามมาด้วยกลุ่ม CIS และอเมริกาเหนือที่ร้อยละ 13.8 และ 12.6 ตามลำดับ แม้กระทั่งยุโรปยังขยายตัวที่ร้อยละ 9.1 อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ตลาดตะวันออกกลางและยุโรปจะกลับมาขยายตัวสูงที่สุดที่ร้อยละ 8.7 และ 6.8 ตามลำดับ มาตรการและกิจกรรมส่งเสริมการค้าของไทยจากนี้จนถึงปีหน้าจึงควรเน้นไปที่ตลาดที่ฟื้นตัวสูงเหล่านี้

 

5. สินค้าที่มีการค้าขยายตัวสูงในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 ได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งถือเป็นสัญญาณล่วงหน้าถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งสินค้าที่ใช้ภายในบ้าน เช่นของเล่น เกมส์ อุปกรณ์กีฬา เฟอร์นิเจอร์ กระเปาถือ เสื้อผ้า และรองเท้า

 

6. การค้าบริการขยายตัวช้ากว่าการค้าสินค้า โดยการค้าบริการหดตัวที่ร้อยละ -9.0 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021 ซึ่งเกิดจากการหดตัวของการเดินทาง (Travel) ที่หดตัวถึงร้อยละ -62 เนื่องจากการเดินทางระหว่างประเทศยังมีข้อจำกัด นอกจากนี้ ดัชนีการค้าบริการของ WTO มีค่าอยู่ที่ 102.5 แสดงให้เห็นว่าปริมาณการค้าบริการ (Service trade volume) อยู่ระหว่างการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ดังนั้น การส่งออกบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวจึงจะยังไม่สามารถเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

 

7. การค้าจะขยายตัวไม่เท่ากันระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ในโลก ประเทศยากจนจะมีการค้าและเศรษฐกิจขยายตัวช้า ในขณะที่ประเทศรายได้สูงจะมีการค้าและเศรษฐกิจขยายตัวเร็วกว่า เนื่องจากสาเหตุสำคัญคือการผลิตและกระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียม (ปัจจุบันมีการผลิตและกระจายวัคซีนเพียง 6 ล้านโดสเท่านั้น และสัดส่วนของประชากรในประเทศรายได้ต่ำที่ได้รับวัคซีน 1 โดสมีเพียงร้อยละ 2.2 เท่านั้น) และอาจเป็นแหล่งกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสด้วย นอกจากวัคซีนแล้ว ประเทศยากจนยังมีปัญหาหนี้ (Sovereign debt) ที่นับวันจะพอกพูนมากขึ้น ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องนำงบประมาณประเทศไปชำระหนี้ และไม่มีงบประมาณด้านสาธารณสุขเพียงพอ ซึ่งรวมถึงการจับจ่ายเพื่อนำเข้าสินค้าจำเป็นอื่น ๆ โดย IMF ออกรายงานพบว่าประเทศยากจน 34 ประเทศมีปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในทวีปแอฟริกาและกลุ่มประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมี สปป. ลาว รวมอยู่ด้วย

 

” การค้าโลกปลายปี 2564 ถึงปี 2565 น่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ แต่จะรวดเร็วมากแค่ไหน คงต้องดูปัจจัยเรื่องวัคซีนประกอบด้วย นอกจากนี้ ภาคบริการนำโดยการท่องเที่ยว การบิน การขนส่ง ยังคงต้องใช้เวลาก่อนที่จะฟื้นตัวได้ดี ส่วนภาคสินค้ายังมีปัจจัยลบบางประการ เช่น การขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ ที่ทำให้สินค้าบางส่วน อาจจะผลิตได้ลดลง สำหรับการฟื้นตัวในแต่ละภูมิภาคทั่วโลกจะช้าเร็วไม่เท่ากัน ดังนั้น นโยบายการส่งออกของไทยจึงน่าจะกำหนดให้สอดคล้องกับภูมิภาคต่าง ๆ ด้วย ” นางพิมพ์ชนก กล่าว

 

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง