รีเซต

กทม.กักตัว 3 ราย สัมผัสหญิงไทยติดโควิด-19 ยันควบคุมโรคต่อเนื่อง

กทม.กักตัว 3 ราย สัมผัสหญิงไทยติดโควิด-19 ยันควบคุมโรคต่อเนื่อง
มติชน
20 สิงหาคม 2563 ( 17:25 )
186
กทม.กักตัว 3 ราย สัมผัสหญิงไทยติดโควิด-19 ยันควบคุมโรคต่อเนื่อง
กทม.กักตัว 3 ราย สัมผัสหญิงไทยติดโควิด-19 ยันควบคุมโรคต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พล.ต.ท.โสภณพิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรณีพบหญิงไทยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 หลังกักตัวครบ 14 วัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นั้น ล่าสุด สำนักอนามัย กทม.ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขต กองระบาดวิทยา และสถาบันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค สธ. ในการค้นหาและติดตามตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดในกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 ราย และดำเนินการนำเข้าสถานที่กักกันเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุก โดยลงพื้นที่คัดกรองกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และเก็บสิ่งส่งตรวจ รวมถึงค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ เพื่อคัดกรองผู้มีอาการผิดปกติร่วมด้วย

 

ทั้งนี้ พล.ต.ท.โสภณ ยังกล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลกแสดงความกังวล คนหนุ่มสาววัย 20-40 ปี เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรคโควิด-19 แพร่กระจาย เนื่องจากหลายคนเป็นผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว เป็นอันตรายต่อประชากรกลุ่มเสี่ยง ว่า กทม. โดยสำนักอนามัย ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขต เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ร่วมกันจัดทีมผู้พิทักษ์ “ไทยชนะ” เข้าตรวจติดตามสถานประกอบการต่าง ๆ ให้เข้มงวดมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง

 

“นอกจากนั้น สำนักการแพทย์ กทม. ยังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการแพทย์ สธ. โรงพยาบาล 4 เหล่าทัพ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งประเทศไทย โดยประชุมหารือร่วมกัน เพื่อเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวและว่า ในส่วนของการบริหารจัดการกรณีเกิดสถานการณ์แพร่ระบาด ปัจจุบันได้เตรียมพร้อมเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,471 เตียง รวมถึงเตรียมพร้อมห้อง ไอซียู (ICU) ความดันลบ และห้องแยกเดี่ยวความดันลบ และหอผู้ป่วยสำหรับดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ด้วย ขณะเดียวกันได้บริหารจัดการด้านยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับกรณีเกิดการระบาดระลอกใหม่

 

พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ จะบริหารจัดการโดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ตลอดจนประสานกับสำนักอนามัย กทม.ในการสอบสวนและคัดกรองโรค นอกจากนั้น ยังได้กำหนดมาตรการเข้มงวดในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรค โดยให้ส่วนราชการในสังกัด จัดกิจกรรมบิ๊ก คลีนนิ่ง (Big Cleaning) ทำความสะอาดอาคารสำนักงาน ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ทุกวันอังคาร ในบริเวณที่ประชาชนสัมผัสร่วมกัน เช่น ราวจับบันไดเลื่อน ปุ่มกดลิฟท์ รถเข็นคนไข้ ห้องน้ำ เก้าอี้ เพื่อเฝ้าระวังเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้จัดประชุมโรงพยาบาลหลักทั้ง 9 แห่ง ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมพร้อมการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีมีการระบาดระลอก 2 โดยใช้ทีมปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐาน (BLS) และระดับสูง (ALS) ในการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง