กทม. เร่งสร้างความเข้าใจชุมชน รอบศูนย์พักคอยฯ-ค้นหาผู้ป่วยตกค้างเข้าระบบ
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานในการบริหารจัดการศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolution) ของกรุงเทพมหานคร โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และประชุมออนไลน์
นางศิลปสวย กล่าวว่าปัจจุบันกทม.ได้เปิดให้บริการศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolution) เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ (โควิดสีเขียว)แล้วจำนวน 9 แห่ง มีผู้เข้าพักประมาณ 500 คน และเร่งทยอยเปิดอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายขณะนี้จะเปิดอย่างน้อย 20 แห่ง ทั้งนี้ที่ประชุมได้หารือแนวทางบริหารจัดการศูนย์พักคอยฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยศูนย์บริการสาธารณสุขจะร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่เร่งค้นหาผู้ป่วยตกค้างในชุมชน และพิจารณาผู้ป่วยที่ไม่มีความพร้อมจะทำการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ให้เข้ามาที่ศูนย์พักคอยฯ เป็นการเร่งแยกตัวผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากครอบครัวหรือชุมชนเพื่อเข้าสู่ระบบคัดกรองอาการเบื้องต้น
ซึ่งเมื่อพบผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียวจะนำส่งเข้าพักที่ศูนย์ฯ เพื่อรอการส่งต่อเข้ารับการรักษาตามอาการต่อไป โดยในขณะที่ผู้ป่วยโควิด-19 พักในศูนย์พักคอยฯ จะได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาล รวมถึงรับยาและรักษาอาการเบื้องต้นตามคำวินิจฉัยของแพทย์ เช่น ฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อเป็นการลดโอกาสที่จะเปลี่ยนเป็นอาการรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ รวมถึงผู้ป่วยรายใหม่ที่ตรวจพบจากการตรวจหาเชื้อเชิงรุกในชุมชนโดยสำนักอนามัย และการตรวจที่โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ด้วย
“พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงการสร้างความมั่นใจกับผู้ป่วยที่เข้าพักในศูนย์พักคอยฯ ที่จะมีระบบการคัดกรองอาการโดยบุคลากรทางการแพทย์และจิตอาสาคอยดูแล มีระบบกล้อง CCTV ระบบการสื่อสาร การรักษาความปลอดภัย รวมถึงความพร้อมของที่พัก เตียงนอน ห้องน้ำ-ห้องสุขา อาหารครบ 3 มื้อ รวมทั้งความพร้อมของระบบการส่งต่อไปโรงพยาบาลกรณีมีอาการรุนแรง” ปลัด กทม. กล่าว
นอกจากนี้ นางศิลปสวยกล่าวว่า ยังให้ความสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจกับชุมชนใกล้เคียงบริเวณโดยรอบศูนย์พักคอยฯ ถึงเหตุผลที่ชุมชนจะได้รับจากการมีศูนย์พักคอยฯ ซึ่งเป็นแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนให้อยู่ในที่เฉพาะซึ่งสามารถให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และลดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนได้ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สำนักงานเขต อาสาสมัคร จะร่วมกันทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อให้คลายความกังวลต่อไป เนื่องจากศูนย์พักคอยฯ เป็นระบบปิดที่มีการควบคุมการกระจายเชื้อสู่ชุมชน ด้วยการรักษาความสะอาด การระบายอากาศ การบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ รวมทั้งระบบการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดอีกด้วย