รีเซต

ฉงชิ่งเผยเบื้องหลังการบูรณะ 'โบราณวัตถุ' สู่การกระตุ้นจิตวิญญาณการอนุรักษ์ของประชาชน

ฉงชิ่งเผยเบื้องหลังการบูรณะ 'โบราณวัตถุ' สู่การกระตุ้นจิตวิญญาณการอนุรักษ์ของประชาชน
Xinhua
13 มิถุนายน 2564 ( 15:42 )
55
ฉงชิ่งเผยเบื้องหลังการบูรณะ 'โบราณวัตถุ' สู่การกระตุ้นจิตวิญญาณการอนุรักษ์ของประชาชน

 

ฉงชิ่ง, 13 มิ.ย. (ซินหัว) -- เราจะรู้ได้อย่างไรว่า โบราณวัตถุที่ถูกขุดพบนั้นต้องใช้ 'กาว' แบบไหนในการบูรณะ ปริศนาดังกล่าวไม่อาจไขได้ด้วยตาเปล่า ทว่า 'ฟ่านเหวินฉี' และเพื่อนร่วมงานของเขาในพิพิธภัณฑ์เขื่อนสามผาแห่งเทศบาลนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รู้คำตอบ

 

 

1 ปีก่อน ฟ่านเหวินฉีได้รับหน้าที่ซ่อมแซมเครื่องปั้นดินจากราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสตกาล-ปี 220) หรือยุครณรัฐ (475-221 ปีก่อนคริสตกาล) กว่า 140 ชิ้น ซึ่งทยอยถูกขุดพบในช่วงเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา บริเวณเขื่อนสามผาตามแนวแม่น้ำแยงซี ในอำเภออูซาน เทศบาลนครฉงชิ่ง

 

 

ในตอนนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองโบราณวัตถุจากทั่วประเทศจีนได้ถูกเรียกตัวมายังแม่น้ำแยงซี ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา พวกเขาจึงต้องใช้กาวเร่งประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างง่ายๆ ด้วย 'การคาดคะเน' ก่อนจะนำโบราณวัตถุทั้งหมดไปเก็บรักษาไว้

 

 

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ในเขตและอำเภอต่างๆ บริเวณเขื่อนสามผาได้เตรียมการเสร็จสิ้นแล้วสำหรับการจัดแสดง โบราณวัตถุข้างต้นจึงถูกขนออกมาเพื่อการบูรณะอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มจากการใช้วิธีต่างๆ ขจัดกาวที่ติดไว้ ทว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าวัตถุดังกล่าวถูกติดไว้ด้วยกาวแบบไหน ในเมื่อกาวที่เจ้าหน้าที่แต่ละคนใช้ในสถานที่ขุดพบนั้นแตกต่างกัน

 

 

คำตอบก็คือ ‘เทคโนโลยี’ นั่นเอง ฟ่านและทีมงานได้ย้ายเข้ามาทำงานในฐานคุ้มครองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเขื่อนสามผา ที่ก่อสร้างเสร็จเมื่อไม่นานนี้โดยพิพิธภัณฑ์เขื่อนสามผาแห่งฉงชิ่ง  พวกเขาได้ใช้เครื่องรามานสเปกโทรมิเตอร์มูลค่าเกือบ 2 ล้านหยวน (ราว 9.71 ล้านบาท) ซึ่งเป็นอุปกรณ์วิเคราะห์ระดับมืออาชีพ ตรวจจับองค์ประกอบของสารได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถระบุชนิดของกาว และจำกัดคราบกาวออกได้อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ยังมีเครื่องเอกซ์เรย์ฟลูออเรสเซนต์สเปกโทรมิเตอร์ ไมโครสโคปแบบระยะชัดลึก และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ช่วยให้กระบวนการบูรณะโบราณวัตถุทางเหล่านี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

 

 

แมลงและเชื้อรายังถือเป็นศัตรูตัวฉกาจในการปกป้องโบราณวัตถุ ทว่าฐานแห่งนี้ก็มีห้องปฏิบัติการสำหรับนำแมลงหรือเชื้อราชนิดต่างๆ ที่ติดอยู่ตามพื้นผิวโบราณวัตถุมาวิจัย ทั้งยังมีอาวุธลับ นั่นคือ ‘เครื่องรมควัน’ ซึ่งเป็นเสมือนกล่องมหัศจรรย์ที่เพียงแค่ใส่สารเคมีที่ใช้รมลงไป พัดลมภายในตัวเครื่องก็จะพัดสารดังกล่าวให้กระจายไปทั่วกล่อง ป้องกันไม่ให้แมลงร้ายหรือเชื้อรามากล้ำกรายโบราณวัตถุ โดยเฉพาะในช่วงอากาศชื้นของฤดูฝน

 

 

'เทคนิคงานฝีมือโบราณ' ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการบูรณะโบราณวัตถุ ขณะที่การจัดแสดงในสมัยนี้ก็ต้องมีการประยุกต์ใช้ ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ เพื่อส่งเสริมให้มรดกตกทอดดังกล่าวมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น

 

 

ขณะนี้ ตะเกียงสัมฤทธิ์ที่เคยถูกใช้ขับไล่สิ่งชั่วร้ายในยุคฮั่นได้ถูกนำมาจัดแสดงต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรก อันเป็นผลงานจากความทุ่มเทในช่วงเวลากว่า 2 ปีของ 'จ้าวเสี่ยวอวี๋' นักบูรณะโบราณวัตถุ วัย 28 ปี กับเพื่อนร่วมงานของเขา

 

 

"แม้เครื่องไม้เครื่องมือในปัจจุบันจะพัฒนาไปมาก แต่เทคนิคดั้งเดิมในการบูรณะโบราณวัตถุก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ" จ้าวกล่าวพร้อมรอยยิ้ม ภาพจารึกของ 'ปี้เสีย' สัตว์มงคลผู้มีหน้าที่ปัดเป่าภัย และ 'เซียนมีปีกไว้เคราแพะนั่งคุกเข่า' ที่ตะเกียงนั้นยังคงแจ่มชัดและชวนให้เกิดความรู้สึกเก่าแก่และเร้นลับแก่ผู้พบเห็น

 

 

ฐานดังกล่าวยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ เช่น วีอาร์ (VR) เปิดให้ผู้ชมได้เรียนรู้และใกล้ชิดวัตถุทางวัฒนธรรมเหล่านี้ด้วยหลากหลายกิจกรรม

 

 

หยวนเฉวียน ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์วัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีของพิพิธภัณฑ์เขื่อนสามผาแห่งฉงชิ่ง กล่าวว่าฐานแห่งนี้มิใช่เพียงสถาบันคุ้มครองโบราณวัตถุเท่านั้น หากแต่ยังเป็นฐานการศึกษาและส่งเสริมความนิยมวิทยาศาสตร์ในหมู่ประชาชนอีกด้วย ซึ่งในอนาคต จะมีโบราณวัตถุอีกมากมายที่ถูกนำมาจัดแสดงที่นี่ผ่านเทคโนโลยี ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้คนเคารพและอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง