รีเซต

12 ข้อต้องรู้ ภาษีกำไรจากต่างประเทศ

12 ข้อต้องรู้ ภาษีกำไรจากต่างประเทศ
ทันหุ้น
28 พฤศจิกายน 2566 ( 17:09 )
61
12 ข้อต้องรู้ ภาษีกำไรจากต่างประเทศ

#ภาษีกำไรจากต่างประเทศ #ทันหุ้น - สรุปสาระสำคัญจากคำสั่งสรรพากร เรื่องภาษีจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

 

สรุปสาระสำคัญจากคำสั่งสรรพากร ที่ ป. 162/ 2566 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ที่เกี่ยวข้องกับภาษีจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

1. เงินได้ที่เกิดก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 สามารถนำกลับประเทศไทยได้โดยอิงตามแนวปฏิบัติเดิม กล่าวคือ นำเงินได้กลับข้ามปีภาษี และผู้มีเงินได้อยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วันในปีภาษีนั้น (ถ้าอยู่ไม่ครบ 180 วัน ก็ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องนำเงินได้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี) โดยที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

 

ตัวอย่างเช่น 

ขายหุ้นในปี 2566 (ปีนี้) และเกิดเงินได้ (มีกำไร) หากนำเงินดังกล่าวกลับในปี 2567 เป็นต้นไป ก็จะไม่เสียภาษีเงินได้

ขายหุ้นตั้งแต่ปี 2565 และเกิดเงินได้ (มีกำไร) โดยที่ยังไม่ได้นำเงินได้กลับประเทศไทย หากนำเงินดังกล่าวกลับในปี 2566 เป็นต้นไป ก็จะไม่เสียภาษีเงินได้

2.นั่นคือ นักลงทุนที่อยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วัน ขึ้นไปในปีภาษีนี้ สามารถขายหลักทรัพย์ต่างประเทศในปีนี้ หากมีกำไรจะถือเป็นเงินได้พึงประเมินเกิดในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งหากนำเงินได้ดังกล่าวกลับมาประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป ก็ไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี

อย่างไรก็ดี มีโอกาสที่กรมสรรพากรอาจมีการออกคำชี้แจงเพิ่มเติม หรืออาจมีการผ่อนคลายอัตราภาษีขั้นสูงสุดจากเงินได้ของการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศในอนาคตได้

 

แหล่งที่มา : คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 และ ป.162/2566 คำถาม-คำตอบ เรื่อง การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร จากกองกฎหมาย กรมสรรพากร

...

 

คำถาม – คำตอบ เรื่อง การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

 

ประเด็น - หลักการ

1 คำถาม : คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161 และ ป.162 มีหลักการ อย่างไร

คำตอบ : คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161 และ ป.162 นั้น เป็นการอธิบายหลักกฎหมายตามมาตรา 41 วรรคสอง ว่าบุคคลจะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากแหล่งเงินได้ต่างประเทศ เมื่อเข้าองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้

(1) บุคคลมีเงินได้พึ่งประเมินจากแหล่งเงินได้ต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไปในปีภาษีที่อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป และ

(2) บุคคลนั้นได้นำเงินได้พึ่งประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีดังกล่าวหรือในปีภาษีต่อ ๆ มาภายหลัง

 

ผล : หากครบองค์ประกอบทั้ง 2 ข้างต้น บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

 

ตัวอย่าง ในปีภาษี 2567 นาย ก. อยู่ในประเทศไทยรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 200 วัน นาย ก. มีเงินได้พึงประเมินจากการให้เช่าทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ กรณีนี้ถือว่าเข้าองค์ประกอบ (1) กล่าวคือ นาย ก. มีเงินได้พึงประเมินจากแหล่งเงินได้ต่างประเทศ ในปีภาษีที่อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป หากต่อมาในปีภาษี 2568 นาย ก. โอนเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเข้ามายังบัญชีธนาคารในประเทศไทย กรณีนี้ถือว่าเข้าองค์ประกอบ (2) กล่าวคือ นาย ก. นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีดังกล่าวหรือในปีภาษีต่อ ๆ มาภายหลัง ดังนั้น ผลคือ นาย ก. ต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวที่ได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทยมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2568

ประเด็น - การมีผลบังคับใช้

2 คำถาม : คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161 และ ป.162 มีผลบังคับใช้เมื่อใด

คำตอบ  เริ่มใช้บังคับสำหรับเงินได้พึ่งประเมินที่เกิดขึ้นและนำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

 

ตัวอย่าง 1 : ในปีภาษี 2566 และ 2567 นาย ก. เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และนาย ก. มีเงินได้พึงประเมินจากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในต่างประเทศ ในปีภาษี 2566 และมีเงินได้พึงประเมินจากการให้เช่าคอนโดมิเนียมที่อยู่ในต่างประเทศในปีภาษี 2567 ต่อมาในปีภาษี 2568 นาย ก. นำเงินได้พึงประเมินทั้ง 2 กลับเข้ามาในประเทศไทย นาย ก. ไม่มีหน้าที่เสียภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากรนาคารในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 แต่นาย ก. มีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึ่งประเมินจากการให้เช่าคอนโดมิเนียมที่อยู่ในต่างประเทศมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2568 เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

 

ตัวอย่าง 2: ในปีภาษี 2567 นาย ก. เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมินจากเงินปันผลในต่างประเทศ ต่อมาในปีภาษี 2568 นาย ก. นำเงินได้พึงประเมินจากเงินปันผลในต่างประเทศดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศไทย นาย ก. มีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากเงินปันผลในต่างประเทศมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2568เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567

 

3 คำถาม : หากเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับก่อนปี 2567 แต่นำเข้ามาในประเทศไทยในปี 2567 จะต้องเสียภาษีหรือไม่

คำตอบ : ไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567

 

ตัวอย่าง : ในปีภาษี 2565 นาย ก. อยู่ในประเทศไทยรวมระยะเวลาเกิน 180 วัน และนาย ก. ได้ไปให้คำปรึกษาในต่างประเทศ และรับเงินค่าที่ปรึกษา จำนวน 50,000 บาทต่อในปีภาษี 2567 นาย ก. โอนเงินค่าที่ปรึกษาดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศไทย นาย ก. ไม่มีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากค่าที่ปรึกษาในต่างประเทศมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2567 เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567

 

ประเด็น - ผู้อยู่ในประเทศไทย

คำถาม : ผู้อยู่ในประเทศไทย หมายความว่าอะไร

คำตอบ : บุคคลซึ่งอยู่ในประเทศไทยรวมเวลาทั้งหมดตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของปีนั้น ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยระยะเวลาเดียวติดต่อกันหรืออยู่ในประเทศไทยหลายชั่วระยะเวลารวมกัน ทั้งนี้ ไม่คำนึงถึงสัญชาติหรือเชื้อชาติของบุคคลนั้น

 

ตัวอย่าง

ㆍนาย A. อยู่ในประเทศไทยทุกวัน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2567 รวมเวลาทั้งสิ้น 366 วัน นาย A. เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษี 2567

ㆍนางสาว ข. อยู่ในประเทศไทย เฉพาะบางเดือน ในปี 2567 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 184 วัน นางสาว ข. เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษี 2567

ㆍนาย B. อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2567 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 179 วัน นาย B. ไม่ใช่ผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษี 2567

ㆍนาง ง. อยู่ในประทศไทยติดต่อกันรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 250 วัน โดยช่วงเวลา 100 วันแรก อยู่ในปี 2567 ส่วนช่วงเวลา 150 วันหลัง อยู่ในปี 2568 เช่นนี้ นาง ง. ไม่ใช่ผู้อยู่ในประเทศไทยทั้งในปีภาษี 2567 และปีภาษี 2568 เพราะนาง ง. อยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้นๆ

 

5 คำถาม : หากมิได้อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไปในปีภาษี แต่มีเงินได้พึงประเมินจากแหล่งเงินได้ต่างประเทศในปีภาษีดังกล่าวนั้น ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นกลับเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่

คำตอบ : ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคลธรรมดา แม้ว่าจะนำเงินได้พึงประเมินนั้นกลับเข้ามาในประเทศไทย

 

ตัวอย่าง : ในปี 2567 นาย ก. อยู่ในประเทศไทยรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 65 วัน นาย ก. มีเงินได้พึงประเมินจากการให้เช่าทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศในปีดังกล่าว และในปีเดียวกันนั้น นาย ก.โอนเงินได้ดังกล่าวเข้ามายังบัญชีธนาคารในประเทศไทย นาย ก. ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินค่าเช่าดังกล่าว ในปีภาษี 2567 เนื่องจากนาย ก. มิใช่ผู้อยู่ในประเทศไทยขณะที่เงินได้พึงประเมินเกิดขึ้น

 

ประเด็น - เงินได้พึงประเมิน

6 คำถาม : เงินได้พึงประเมินประเภทใดบ้างที่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

คำตอบ : เงินได้พึงประเมินจากแหล่งเงินได้ต่างประเทศที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพิจารณาจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ถึง(8) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร ก็ไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีนั้นมาเสียภาษีในประเทศไทย เช่น การรับมรดก หรือเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น เป็นต้น

 

ประเด็น - การนำเงินได้พึงประเมินเข้ามาในประเทศไทย

7 คำถาม : นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย หมายความว่าอย่างไร

คำตอบ : การกระทำด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย เช่น การโอนเงินได้พึงประเมินผ่านบัญชีธนาคาร การโอนเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ ONLINE หรือการนำเงินได้พึงประเมินติดตัวเข้ามาในประเทศ เป็นต้น

 

ตัวอย่าง : นางสาว ข. เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย โอนเงิน จำนวน 200,000 บาท ไปเข้าบัญชีธนาคารในต่างประเทศ และได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคารดังกล่าว จำนวน 10,000 บาท ต่อมานางสาว ข. ได้สั่งโอนดอกเบี้ยดังกล่าวเข้าบัญชีธนาคารในประเทศไทย ถือว่านางสาว ข. ได้นำดอกเบี้ยซึ่งข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

 

ประเด็น - เงินต้น

8 คำถาม : การโอนเงินไปต่างประเทศ และนำเงินนั้นกลับเข้ามาในประเทศไทยต้องเสียภาษี หรือไม่อย่างไร

คำตอบ : ไม่เสียภาษี กรณีที่มีการโอนเงินลงทุนไปต่างประเทศ และมีการโอนเงินดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศไทย จะไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน

 

ตัวอย่าง : นาย ก. โอนเงิน จำนวน 200,000 บาท ไปเข้าบัญชีลงทุนในต่างประเทศ ต่อมานาย ก. ได้ปิดบัญชีลงทุนดังกล่าว และนำเงิน จำนวน 200,000 บาท กลับเข้ามาในประเทศไทย เงินดังกล่าวไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน นาย ก. ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการนำเงินดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศไทย

 

9 คำถาม : หากนำเงินไปฝากรนาคารในต่างประเทศ และได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงินดังกล่าวต่อมาได้นำเงินต้นและดอกบี้ยกลับเข้ามาในประเทศไทย ต้องนำเงินต้นและดอกเบี้ยมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใช่หรือไม่

คำตอบ : เงินต้นไม่เสียภาษี แต่จะต้องเสียภาษีเงินได้เฉพาะส่วนของดอกเบี้ยซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรับฎากร ที่นำกลับเข้ามาประเทศไทยในปีภาษีที่ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าว และบุคคลนั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วัน

 

ตัวอย่าง : ในปีภาษี 2567 นาย ก. อยู่ในประเทศไทยรวมระยะเวลาเกิน 180 วัน นาย ก. ได้นำเงินจำนวน 50,000 บาท ไปฝากธนาคารในต่างประเทศ และได้ดอกเบี้ยเงินฝาก จำนวน 5,000 บาท ในปีภาษี 2567 ต่อมาในปีภาษี 2568 นาย ก. โอนเงินทั้งหมดกลับเข้ามาในประเทศไทย นาย ก. มีหน้าที่ต้องนำเฉพาะเงินได้พึ่งประเมินจากดอกเบี้ยเงินฝากในต่างประเทศซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2568

 

ประเด็น - กำไรที่ยังไม่รับรู้

10 คำถาม : นำเงินไปซื้อหุ้นในต่างประเทศ สิ้นปีราคาหุ้นในต่างประเทศราคาขึ้นโดยยังไม่ได้ขายหุ้นดังกล่าว ต้องเสียภาษีหรือไม่ อย่างไร

คำตอบ : ไม่เสียภาษี เนื่องจากยังไม่มีการขายหุ้นดังกล่าวอันเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน จึงยังไม่ถือว่ามีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ตัวอย่าง 1 : ในปีภาษี 2567 นาย ค. อยู่ในประเทศไทยรวมระยะเวลาเกิน 180 วัน และนาย ค. ได้นำเงินไปซื้อหุ้น A ในต่างประเทศ ในวันที่ 15 มีนาคม 2567 จำนวน 100 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 100,000 บาท ต่อมาในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ราคาหุ้นขึ้นเป็น หุ้นละ 1,100 บาท ดังนั้น นาย ค. มีกำไรที่ยังไม่รับรู้ (UNREALIZED GAIN) เพิ่มขึ้น 10,000 บาท ในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยนาย ค. ยังไม่ได้ขายหุ้นดังกล่าวแต่อย่างใด จึงไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ตัวอย่าง 2 : ต่อมาในปีภาษี 2568 นาย ค. อยู่ในประเทศไทยรวมระยะเวลาเกิน 180 วัน และนาย ค. ได้ขายหุ้น A ในต่างประเทศ จำนวน 80 หุ้น ในวันที่ 1 มิถุนายน 2568 ในราคาหุ้นละ 1,200 บาท ดังนั้น นาย ค. มีกำไร (REALIZED GAIN) จำนวน 16,000 บาท ในวันที่ 1 มิถุนายน 2568 ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินจากผลประโยชน์ที่ได้รับจากการขายหุ้นดังกล่าวซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร แต่สำหรับหุ้น A อีก จำนวน 20 หุ้น ที่นาย ค. ยังได้ขาย ยังไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ตัวอย่าง 3 : ต่อมาในปีภาษี 2569 นาย ค. นำกำไรจากการขายหุ้น A จำนวน 80 หุ้น ในวันที่ 1 มิถุนายน 2568 ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากรกลับเข้ามาในประเทศไทย นาย ค. มีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการขายหุ้นในต่างประเทศดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2569 เนื่องจากเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567

 

ประเด็น - เงินสะสมที่ได้รับในขณะที่มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

11 คำถาม : หากบุคคลไปอาศัยอยู่และทำงานหรือประกอบกิจการอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานาน ต่อมาต้องการกลับมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงได้นำเงินสะสมจากการทำงานหรือประกอบกิจการในต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศไทย บุคคลดังกล่าวจะต้องเสียภาษีจากการนำเงินสะสมนั้นเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่

คำตอบ : ไม่ต้องเสียภาษี กรณีการนำเงินสะสมจากการทำงานหรือประกอบกิจการในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากเงินสะสมดังกล่าวมีที่มาจากเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นในปีภาษีที่บุคคลนั้นอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน

 

ตัวอย่าง : นาง ง. เป็นคนสัญชาติไทยและไปอาศัยอยู่ในประเทศจีนในปี 2550 แต่ในปี 2567 นาง ง. ต้องการเดินทางกลับมาอาศัยอยู่ในประทศไทยเป็นการถาวร จึงได้นำเงินสะสมจากการประกอบกิจการในประเทศจีนกลับเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด เช่นนี้ นาง ง. ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่นำเข้ามาในประเทศไทยในปี 2567 เนื่องจากเงินสะสมดังกล่าวมีที่มาจากเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นในปีภาษีที่นาง ง. ไม่ใช่ผู้อยู่ในประเทศไทย

 

ประเด็น - การขจัดภาษีซ้อน

12 คำถาม : หากเงินได้พึงประเมินที่นำเข้ามาในประเทศไทยเป็นเงินได้ที่ได้มีการเสียภาษีเงินได้ในต่างประเทศแล้ว หากนำเงินได้นั้นกลับเข้ามาต้องนำเงินได้มาเสียภาษีในประเทศไทยอีกครั้ง จะมีภาษีซ้ำซ้อนหรือไม่ และสามารถนำภาษีเงินได้ที่ชำระไว้ในต่างประเทศมาขจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน หรือไม่

คำตอบ : ไม่มีภาษีซ้ำซ้อน ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศไทย (อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วัน) สามารถนำภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศมาเครดิตกับภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยในปีภาษีที่นำเงินได้พึงประเมินเข้ามาในประเทศไทยได้ ตามข้อบทแห่งอนุสัญญาภาษีช้อนๆ ที่ประเทศไทยเป็นคู่สัญญากับประเทศนั้น ๆ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง