รีเซต

ชาวบ้านริมโขงสุดปลื้ม “ครูตี๋” รับรางวัล Goldman Environmental Prize

ชาวบ้านริมโขงสุดปลื้ม “ครูตี๋” รับรางวัล Goldman Environmental Prize
มติชน
26 พฤษภาคม 2565 ( 15:06 )
49
ชาวบ้านริมโขงสุดปลื้ม “ครูตี๋” รับรางวัล Goldman Environmental Prize

ชาวบ้านริมโขงสุดปลื้ม “ครูตี๋” รับรางวัล Goldman Environmental Prize เผยร่วมต่อสู้คัดค้านระเบิดแก่งแม่น้ำโขงมาด้วยกัน นักวิชาการรัฐดูตัวอย่างการรักษาธรรมชาติของคนเล็กคนน้อย

 

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีพิธีมอบรางวัล Goldman Environmental Prize ให้กับนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ในฐานะที่มีบทสำคัญในการคัดค้านโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีน จนรัฐบาลไทยมีมติคณะรัฐมนตรียอมยกเลิกโครงการ

 

โดยพิธีจัดขึ้นทางออนไลน์จากสหรัฐอเมริก ซึ่งมีผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 7 คน 6 ทวีป ซึ่งมีบุคคลสำคัญและชาวบ้านมาร่วมแสดงความยินดี อาทิ พระอภิชาต รติโก เจ้าอาวาสวัดสบกก ศ.สุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางเตือนใจ ดีเทศ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และชาวบ้านริมแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ยังมีพิธีสงฆ์ทำบุญเปิดห้องสมุดอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น หลังจากนั้นได้มีการตั้งวงเสวนาในหัวข้อ “รางวัลสิ่งแวดล้อมโลก Goldman Environmental Prize คัดค้านระเบิดแก่งแม่น้ำโขงกับก้าวต่อไปในการดูแลสายน้ำ” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ศ.สุริชัย หวันแก้ว นางเตือนใจ ดีเทศน์ นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต นายเมือง สีสม ตัวแทนหมู่บ้านม่วงชุม วิฑูรย์ จำปาคำ ตัวแทนหมู่บ้านทุ่งงิ้ว นางพิมพ์พรรณ วงศ์ไชยา ตัวแทนหมู่บ้านบุญเรือง และดร.อภิสม อินทรลาวัณย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

นายสมเกียรติ กล่าวว่า เมื่อทราบว่ามีโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงได้ร่วมลงพื้นที่กับครูตี๋เพื่อสอบถามชาวบ้านซึ่งต่างก็บอกว่าหากเกาะแก่งหินผาถูกทำลายก็เป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของปลาและพันธุ์พืช และชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องทำหน้าที่ปกป้องเกาะแก่งหินผาเพราะแม่น้ำโขงเป็นที่ทำมากหากินของชาวบ้าน ซึ่งถึงวันนี้เชื่อว่าการลุกขึ้นมาค้ดค้านทำให้ประชาชนได้รู้จักแม่น้ำโขงมากขึ้น และรางวัลที่ได้รับครั้งนี้ถือว่าประชาชนมีส่วนร่วมที่ครูตี๋เป็นตัวแทนของการได้รับ

ครูตี๋กล่าวว่า ครั้งแรกเราไม่รู้ว่าจีนจะระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจนวันหนึ่งมีน้องที่ทำงานกระทรวงมหาดไทยได้รับข่าวโดยมีหนังสือแจ้งว่าจะมีการระเบิดแก่งและให้ผู้นำหมู่บ้านแจ้งให้ลูกบ้านให้ระมัดระวังและอย่าเข้าใกล้ ซึ่งหนังสือฉบับนี้ทำให้รู้ว่าเขาจะเอาจริง ตอนแรกเราไม่รู้จะสู้อย่างไร คิดแค่ถ้าเขามาก็ต้องไปหา โดยได้ขึ้นเรือสำรวจของจีนไป 2 ครั้ง นัดชาวบ้านไปที่เรือและปีนขึ้นเรือเพื่อบอกเขาให้หยุดและออกไป ซึ่งเขาก็สะดุ้งสุดท้ายเราก็เริ่มขยับได้ โดยให้ชาวบ้านรู้เหมือนที่เรารู้เพราะเชื่อว่าเมื่อทุกคนรู้ข้อเท็จจริงคงไม่ยอมแน่เพราะต่างก็รักบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง

 

“ผมขอบคุณพี่น้องทุกคน ขอบคุณแทนแม่น้ำโขงที่พวกเราได้ช่วยกันด้วยการความรัก เรื่องระเบิดเกาะแก่งใหญ่มากเกินที่เราจะสู้คนเดียว บางครั้งการตัดสินใจมันบีบคั้นมาก เราต้องการความร่วมมือด้วยหัวใจและจิตวิญญาณ ไม่ได้ร่วมมือด้วยผลประโยชน์ แม่น้ำโขงต้องถูกรักษาด้วยจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ ขอบคุณทุกคน อย่างน้อยเราหยุดการระเบิดเกาะแก่ง เป็นตัวอย่างว่า ไม่ว่าจะยากเพียงไหน หากมีความศรัทธาในสิ่งที่ทำที่เป็นประโยชน์กับโลกทุ กคนทำได้ ผมอยากบอกว่าธรรมชาติคือลมหายใจของโลกไม่ใช่แค่ลมหายใจของมนุษย์ ถ้าคุณฆ่าและทำลายธรรมชาติ ลมหายใจของโลกก็หมดไป มนุษย์ก็จะหมดไป ทุกสิ่งทุกอย่างก็หมดไปด้วย” ครูตี๋ กล่าว

นายวิฑูรย์ จำปาคำ กล่าวว่า ตอนแรกไม่รู้จักว่าครูตี๋คือใครจนกระทั่งวันหนึ่งรัฐบาลจะเอาป่าชุมชนของหมู่บ้านไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งชาวบ้านก็ไม่รู้จะสู้อย่างไร จนกระทั่งพบครูตี๋และนางเตือนใจที่ไปลงพื้นที่ป่า ทำให้ชาวบ้านได้รับรู้แนวทางการต่อสู้ รางวัลนี้ถือเป็นเกียรติประวัติของคนเชียงของ ทำให้พวกเราเกิดความภาคภูมิใจและรู้สึกยินดี

 

ศ.สุริชัย  กล่าวว่า การที่ครูตี๋ได้รับการยอมรับระดับโลกเพราะมีความกล้าหาญ ความผูกพันกับพื้นที่ที่ไม่มีใครรู้เห็นซึ่งมีสัญญาณเตือนจากประเทศใหญ่ที่รัฐบาลไทยไม่กล้าทำอะไร แต่คนพื้นที่ได้ออกมาเรียกร้องจนสามารถแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีได้ ขณะนี้โลกบิดเบี้ยวมากหากไม่ช่วยกันแก้ไข อะไรๆก็จะสายไปมากกว่านี้ ความตั้งใจเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่เชื่อว่าต้องเรียนรู้จากคนที่ต่อสู้เรื่องราวเหล่านี้

ศ.สุริชัย กล่าวถึงกรณีที่แม่น้ำโขงกลายเป็นสมรภูมิการเมืองระหว่างประเทศของจีนกับสหรัฐอเมริกา ว่าการเมืองระหว่างประเทศแบบนั้นเป็นการเอาเหตุผลภูมิรัฐศาสตร์เป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่ความจริงประเทศไทยคำว่าภูมิต้องคำนึงถึงพลังธรรมชาติด้วยและต้องดูว่าภูมิรัฐศาสตร์เราจะอยู่อย่างไร โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยซึ่งขณะนี้เป็นโอกาสสำคัญในการจัดสมดุลในระดับภูมิรัฐศาสตร์โดยให้คนท้องถิ่นที่อยู่กับธรรมชาติได้มีส่วนร่วม ไม่ใช่การเมืองแบบบ้าเลือดหรือมีแต่ความขัดแย้ง เราต้องเอาการเมืองระบบนิเวศมาร่วมด้วย เพราะทุกคนต้องหายใจร่วมกัน จึงต้องมีช่องทางต่างๆร่วมมือกัน

 

นางเตือนใจกล่าวว่า เมื่อเกิดโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงได้เชิญคณะกรรมาธิการมาลงพื้นที่และสรุปว่าการระเบิดเกาะแก่งจะส่งผลกระทบต่อเขตแดนในที่สุดรัฐบาลก็ยอมถอย คิดว่าคนไทยควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ขณะที่คนที่อยู่กับแม่น้ำโขงต้องอยู่อย่างมีศักดิศรีความเป็นมนุษย์ เช่น คนที่มีปัญหาสัญชาติ และเรื่องธรรมชาติก็ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง