รีเซต

'ครม.' เคาะ ตั้งนิคมฯ ราชทัณฑ์ นำร่อง 4 แห่ง จ้างงานผู้ต้องขังลดปัญหาล้นเรือนจำ ตั้งเป้า 1.6 หมื่นคน/ปี

'ครม.' เคาะ ตั้งนิคมฯ ราชทัณฑ์ นำร่อง 4 แห่ง จ้างงานผู้ต้องขังลดปัญหาล้นเรือนจำ ตั้งเป้า 1.6 หมื่นคน/ปี
มติชน
19 ตุลาคม 2564 ( 15:43 )
82

‘ครม.’ เคาะ ตั้งนิคมฯ ราชทัณฑ์ นำร่อง 4 แห่ง จ้างงานผู้ต้องขังลดปัญหาล้นเรือนจำ-สร้างความมั่นคงอาชีพ ตั้งเป้าส่งแรงงานในบริษัท 1.6 หมื่นคนต่อปี

 

เมื่อเวลา 14.50 น. วันที่ 19 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ โดยให้กระทรวงยุติธรรม หารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และผู้ประกอบการเอกชน จ้างงานผู้ต้องขัง ในพื้นที่นำร่องต้นแบบที่เรือนจำสมุทรสาคร เรือนจำกลางชลบุรี เรือนจำสมุทรปราการ และเรือนจำกลางระยอง เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ฝึกทักษะยกระดับฝีมือแรงงาน และสร้างผู้พ้นโทษให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ และสร้างอาชีพในอนาคต และลดอัตรากระทำผิดซ้ำสอง โดยตั้งเป้าส่งแรงงานผู้ที่พ้นโทษ พักการลงโทษ หรือได้รับการลดโทษ เข้าไปทำงานในบริษัทต่างๆได้ 16,000 คนต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ภาครัฐจะต้องใช้ในการดูแลผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ เฉลี่ย21,000 บาทต่อคนต่อปี จะทำให้ลดงบประมาณของเรือนจำ 336 ล้านบาท และยังสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้ผู้ต้องขัง ลดการกระทำผิดซ้ำ

 

นายธนกร กล่าวว่า สำหรับแนวทาง การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภายนอกเรือนจำโดยร่วมกับ กนอ. ในที่ราชพัสดุของหน่วยงานอื่น 2.การจัดตั้งนิคมฯ ภายในพื้นที่เรือนจำ ในที่ราชพัสดุของกรมราชทัณฑ์ และ 3.การใช้พื้นที่เอกชนเป็นนิคมฯ หากยังมีพื้นที่ว่างที่ยังเหลืออยู่ โดยมีพื้นที่นำร่องต้นแบบ 4 แห่ง ได้แก่ เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร (เรือนจำชั่วคราวบางหญ้าแพรก เรือนจำกลางชลบุรี (เรือนจำชั่วคราวบ้านบึง) เรือนจำกลางสมุทรปราการ (เรือนจำชั่วคราวคลองด่าน) และเรือนจำกลางระยอง (เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว) โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนคัดเลือกผู้ประกอบธุรกิจที่เน้นนวัตกรรม แรงงานใช้ฝีมือและรูปแบบธุรกิจที่ทันสมัย พร้อมให้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจของภาคธุรกิจในการร่วมลงทุนแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง