รีเซต

คล้ายเจอ ‘ทางตัน’ แต่ยังมี ‘ทางออก’ ของ‘บิ๊กตู่’ ของ‘ประเทศ’

คล้ายเจอ ‘ทางตัน’ แต่ยังมี ‘ทางออก’ ของ‘บิ๊กตู่’ ของ‘ประเทศ’
มติชน
8 พฤศจิกายน 2563 ( 12:04 )
55
คล้ายเจอ ‘ทางตัน’ แต่ยังมี ‘ทางออก’ ของ‘บิ๊กตู่’ ของ‘ประเทศ’

คล้ายๆ กับว่าประเทศไทยไม่มีทางออก เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมในนาม “ราษฎร” ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ
หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
หนึ่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
หนึ่ง ปฏิรูปสถาบัน
ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าจะทำงานจนถึงที่สุด ไม่ทิ้งหน้าที่ไปกลางคัน
วุฒิสภาก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ไม่รับข้อเสนอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ยิ่งข้อเสนอประการสุดท้าย ยิ่งเป็นไปไม่ได้

แต่ในอาการที่คล้ายๆ กับว่าประเทศไม่มีทางออก ยังมีความพยายามจากรัฐสภาที่ยังมีความหวังจะผ่าทางตัน
ผลการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัย มีข้อสรุปว่าสมควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหาทางออก
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นำคำแนะนำจากรัฐสภาไปปรึกษากับสถาบันพระปกเกล้า และได้ข้อเสนอมา 2 โมเดล
หนึ่ง เป็นโมเดลที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอ
นั่นคือมีผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ รวม 7 ฝ่าย เช่น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนของวุฒิสภา และตัวแทนขององค์กรอื่น
แต่มีจุดอ่อน คือ หากฝ่ายใดปฏิเสธไม่ร่วม องค์ประชุมก็จะไม่ครบ หากคุยไม่รู้เรื่องก็ล่ม
สอง เป็นโมเดลที่มีคนกลางที่มาจากการเสนอของฝ่ายต่างๆ หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้สรรหา หรือแต่งตั้งคณะกรรมการ
ทั้งนี้ นายชวนได้ทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อขอคำปรึกษาในเรื่องนี้
ทั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน ทั้ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้ง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
รวมไปถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ ซึ่งบัดนี้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี

ขณะเดียวกัน รัฐสภาได้บรรจุวาระพิจารณาญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ญัตติ
เป็นญัตติของฝ่ายรัฐบาล ญัตติของฝ่ายค้าน และญัตติของไอลอว์ ซึ่งเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาชนร่วมลงชื่อเสนอกว่าแสนคน
มีกำหนดเวลาเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน
ญัตติดังกล่าวอาจมีข้อเสนอปลีกย่อยที่แตกต่าง แต่หัวใจหลักๆ ยังคงเป็นการแก้ไขมาตรา 256
เปิดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุม

ปัญหาสำคัญที่ขวางกั้นทางออกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ ความไม่มั่นใจกระบวนการแก้ไขปัญหา
กลุ่มราษฎรเปิดแถลงข่าวล่าสุด ประกาศระดมพลชุมนุมกันอีกครั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน
ยืนยันไม่ลดเพดานการเรียกร้อง ยืนยันข้อเสนอ 3 ข้อเดิม
และประกาศไม่ร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ที่รัฐสภาเสนอ
กลุ่มราษฎรมองว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการ “ซื้อเวลา”
เหตุที่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ไว้วางใจนั้นมีเหตุแห่งที่มา เพราะตลอดระยะเวลาที่เรียกร้อง พฤติกรรมของรัฐบาลกับคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ มักไม่สอดคล้อง
ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิมที่เข้าสู่รัฐสภา กลับมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาหลักการ แม้ว่าก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎรจะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แล้วก็ตาม
หลังจากนั้นความไม่ไว้วางใจได้ขยายตัวบานปลาย เมื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 13-14 ตุลาคม ที่ถนนราชดำเนิน
การปลุกม็อบฝ่ายต่อต้านกลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นมาเพื่อเผชิญหน้า
การใช้กำลังตำรวจตระเวนชายแดนสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม
แม้แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศ “ถอยคนละก้าว” และเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตามควบคุมตัวแกนนำไปฝากขัง และคัดค้านการประกัน
ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ไม่มีทีท่า “ถอยคนละก้าว”
นี่จึงเป็นที่มาของความไม่ไว้วางใจ
ข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก จึงแหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ข่าว
เนื้อหาข่าวระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาพิจารณาคดี กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5)ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่
ผลการพิจารณา ศาลอภิปราย เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยเห็นแล้วว่า คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงยุติไต่สวน
นัดแถลงด้วยวาจา และลงมติ วันที่ 2 ธันวาคม เวลา 15.00 น.
กรณีดังกล่าว เป็นกรณีที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กับคณะ ได้เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณา
ผลการวินิจฉัยในวันที่ 2 ธันวาคม มีผลต่อ พล.อ.ประยุทธ์

เมื่อประมวลเหตุการณ์ที่ผ่าน และเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
แม้ห้วงเวลา ณ ปัจจุบัน แลแล้วยังไม่เห็นทางออกของสถานการณ์การเมือง
แต่จากปรากฏการณ์ที่เห็นก็ยังมีทางออกได้เสมอ
อาจเป็นทางออกของสถานการณ์อันเกิดจากความสำเร็จของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อาจเป็นทางออกของสถานการณ์อันเกิดจากความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการสมานฉันท์
และอาจจะเป็นทางออกของสถานการณ์จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
การเมืองไทยและวิกฤตความขัดแย้ง จึงยังต้องเฝ้าติดตาม
ทุกประการที่ขับเคลื่อนจะพบกับแสงสว่างจากทางออก หรือจะมืดมนหมดแสงเพราะไปเจอทางตัน
ยังต้องติดตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง