รีเซต

รอปี 2638 หากพลาดชม “ดาวหาง” ประเภทเดียวกับ “ฮัลเลย์”

รอปี 2638 หากพลาดชม  “ดาวหาง” ประเภทเดียวกับ “ฮัลเลย์”
TNN ช่อง16
14 มีนาคม 2567 ( 22:05 )
29
รอปี 2638 หากพลาดชม  “ดาวหาง” ประเภทเดียวกับ “ฮัลเลย์”

ช่วงค่ำวันที่ 11 มีนาคม กับภาพดาวหาง 12P/Pons-Brooks  บนดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่  ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(NARIT) หรือ สดร.นำมาเผยแพร่พร้อมให้ข้อมูลว่า  ดาวหาง 12P/Pons-Brooks จัดเป็นดาวหางประเภทคาบสั้น ซึ่งหมายถึง มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์น้อยกว่า 200 ปี  โดยดาวหาง 12P/Pons-Brooks มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 71 ปี  เหมือนกับ “ดาวหางฮัลเลย์” (1P/Halley) ที่มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์คาบสั้นเช่นกัน   ดาวหาง 12P/Pons-Brooks  กำลังโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์และจะใกล้มากที่สุดวันที่ 23 เมษายนนี้ จะได้รับพลังงานและรังสีจากดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำให้เกิดกลุ่มฝุ่นและแก๊สฟุ้งกระจายออกมามาก ส่งผลให้ดาวหางจะมีความสว่างสูงสุด จนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้าตอนกลางคืน ซึ่งหากเราพลาดเวลาช่วงนั้นไปก็อาจต้อรอถึง 71 ปี หรือในปี พ.ศ.2638 อาจเรียกได้ว่า 1 ชั่วอายุคนจึงจะเห็นดาวหาง 12P/Pons-Brooks สักครั้ง   ส่วน“ดาวหางฮัลเลย์” จะเขาใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดทุก  75 ปี  ล่าสุดปรากฎเมื่อ พ.ศ.2529 ดังนั้น “ดาวหางฮัลเลย์”จะโคจรมาอีกครั้งปีในปี พ.ศ. 2604  



ดาวหาง 12P/Pons-Brooksค้นพบครั้งแรกโดย Jean-Louis Pons ซึ่งเป็น     นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ในปีพ.ศ. 2555 ( ค.ศ. 1812)  และมีการค้นพบซ้ำอีกครั้งในปีพ.ศ.2426(ค.ศ 1883 )  โดย William Robert Brooks นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน  “จึงเป็นที่มาของชื่อดาวหาง 12P/Pons-Brooks ตามชื่อนักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบทั้ง 2 คน       


             

ส่วน“ลูกไฟสีเขียว”เหนือท้องฟ้าเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พบว่าเป็น “ดาวตกชนิดลูกไฟ” ( Fireball )   มีขนาดใหญ่และสว่างมากความสว่างใกล้เคียง“ดาวศุกร์” ส่วน 6 มีนาคม เป็น “ดาวตกชนิดระเบิด” (Bolide)  เนื่องจากมีความสว่างเทียบเท่ากับความสว่างของ “ดวงจันทร์เต็มดวง”  หรือ เกิดการระเบิดขึ้นกลางอากาศ ซึ่งครั้งนี้ดาวตกชนิดระเบิดเกิด 2 ครั้งห่างกันประมาณ  1 ชั่วโมง  ครั้งแรก มีหัวเป็นสีฟ้า หางเป็นสีเขียว ส่วนครั้งที่ 2 มีหัวสีส้ม ส่วนหางเป็นสีเขียว   พบเห็นแต่ละครั้งประมาณ 10 วินาที  



นอกจากนี้ยังมีปรากฎการณ์เหนือท้องฟ้า หรือ วัตถุ เหนือท้องฟ้าที่สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายแบบ   “ดาวตก” เกิดจากเศษหินและฝุ่นของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย พุ่งเข้ามาชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศความสูง 80-120 กิโลเมตร ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ สีของดาวตก  มาจากแสงที่เปล่งออกมาจากอะตอมโลหะของดาวตก ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบทางเคมี และโมเลกุลของอากาศโดยรอบ ทำให้ดาวตกไม่ได้มีแค่แสงสีเขียวเท่านั้น  สำหรับแสงสีออกโทนม่วง  เกิดจากอะตอมของแคลเซียม     ส่วนแสงสีโทนฟ้า เกิดจากอะตอมเหล็ก  ส่วนอะตอมแมกนีเซียมและนิกเกิล จะให้แสงสีฟ้าเขียว  ส่วนอะตอมโซเดียม ให้แสงสีส้มเหลือง  ขณะที่โมเลกุลในชั้นบรรยากาศโลก จะมีอะตอมของออกซิเจน และไนโตรเจน เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะให้แสงสีแดง ดาวตกที่ร้อนจัดซึ่งมักจะให้แสงสีแดงและสีเขียวเป็นหลักขึ้นอยู่กับความสูงของพื้นโลก “ดาวตก”เผาไหม้จากความเร็วที่ตกลงมาในชั้นบรรยากาศของโลก จึงมีการเคลื่อนที่ที่เร็วที่สุดในบรรดาวัตถุต่างๆ จะกินเวลาเพียงประมาณไม่กี่วินาทีจนถึงเสี้ยววินาที หากไม่ได้สังเกตการณ์ท้องฟ้า ณ ตำแหน่งนั้นๆตั้งแต่ต้นก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะหันกล้องไปบันทึกภาพได้ทัน



ส่วนอุกกาบาต   มีต้นกำเนิดเดียวกันกับดาวตก จึงเป็นคำที่ใช้กับตัวก้อนของดาวตกที่เหลือรอดมายังพื้นดินก็จะเรียกว่า อุกกาบาต  แต่ละวันจะมีอุกกาบาตตกลงมายังพื้นโลกประมาณ 44-48.5 ตันต่อวัน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คนจึงไม่สามารถพบเห็นได้


ดาวหาง   ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะ  มีแหล่งกำเนิดห่างไกลออกไป แต่จะมีช่วงที่โคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในที่ซึ่งมีโลกอยู่ เมื่อดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์อาจจะระเหยออก ทิ้งเป็นก้อนแก๊สและเศษน้ำแข็งขนาดเล็กไปตามวงโคจร ปรากฏเป็นหางยาวออกมา จึงเรียกว่า "ดาวหาง” 



ส่วนจรวด  เป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น จรวดขับเคลื่อนโดยการทิ้งแก๊สเอาไว้เบื้องหลัง จึงอาจจะสังเกตลักษณะคล้ายกับ "หาง" ลากเป็นทางยาว แต่จรวดนั้นอาจจะอยู่สูงเลยออกไปนอกชั้นบรรยากาศ จึงไม่ได้มีการเผาไหม้แล้ว


ด้านข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์ศูนย์สิ่งแวดล้อมอุกกาบาตขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา  ( NASA) อธิบายเหตุผลที่พบ “ดาวตก”บ่อยในช่วงต้นปีนี้ นอกเหนือจากการพบในช่วงปรากฏการณ์   “ฝนดาวตก” ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาและวันที่ชัดเจนของทุกๆ ปี  จากสถิติพบว่า  ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงที่อัตราการพบเห็นลูกไฟในเวลาช่วงค่ำสำหรับผู้สังเกตในซีกโลกเหนือเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงอื่นประมาณร้อยละ 10 - 30 และเรียกช่วงดังกล่าวว่า "ฤดูดาวตก"   ซึ่งตลอดทั้งปีหากเราได้เฝ้ามองท้องฟ้าตั้งแต่ช่วงค่ำจนถึงรุ่งเช้าสามารถคาดหวังที่จะเห็นดาวตกแบบสุ่ม ประมาณ 10 ลูกต่อคืน ส่วนช่วงปรากฏการณ์ “ฝนดาวตก” จะพบเห็นที่ดาวตกหลายสิบดวงจนถึงหลักร้อยดวง


          

ที่มา :    องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA)

            สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(NARIT)

            สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง