รีเซต

รู้หรือไม่ “ปรากฏการณ์ MJO” ชาติตะวันตกไม่ได้คิด เพราะ “ชาวจีน” เจอก่อนเกือบทศวรรษ

รู้หรือไม่ “ปรากฏการณ์ MJO” ชาติตะวันตกไม่ได้คิด เพราะ “ชาวจีน” เจอก่อนเกือบทศวรรษ
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2567 ( 09:58 )
20
รู้หรือไม่ “ปรากฏการณ์ MJO” ชาติตะวันตกไม่ได้คิด เพราะ “ชาวจีน” เจอก่อนเกือบทศวรรษ

ตรงนี้ แตกต่างกับลานีญา เพราะ MJO จะยืนระยะเพียง 40-50 วัน และนาน ๆ เกิด-ขึ้นครั้งหนึ่ง ส่วนลานีญาเป็นปรากฏการณ์ที่ยืนระยะยาวนานเกือนเดือน และจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่ามาก


ส่วนใหญ่แล้ว การที่เราตื่นเต้นหรือตระหนักรู้ถึงปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบนี้ ล้วนมาจาก “การสร้างคำอธิบายแบบตะวันตก” ทั้งสิ้น เพราะหากชาติตะวันตกไม่สังเกตและสร้างคำอธิบาย ก็ยากที่โลกตะวันออกแบบเรา จะรับรู้หรือเข้าใจได้


แต่รู้ไหมว่า สำหรับปรากฏการณ์ MOJ นี้ หากทำการสืบสาว “ประวัติศาสตร์การวิจัยและพัฒนา” ตามหลักวิชาของภูมิอากาศวิทยาจะพบว่า มีรอยทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่มาจากชาติตะวันตก


ร่วมสร้างความเข้าใจใหม่ ท้าทาย “มายาคติของตะวันตก” นี้ไปพร้อมกัน


สองสหายวิจัยปรากฏการณ์


ปกติแล้ว หากต้องการตรวจสอบประเด็นใดประเด็นหนึ่ง จุดตั้งต้นที่ดีที่สุดคือการพิจารณา “ปีที่สิ่งนั้นปรากฏ” 


MJO ก็เช่นเดียวกัน เพราะในการสำรวจงานศึกษา มักจะไปตรวจสอบย้อนไปถึงที่มา คือ งานวิจัยชื่อ Detection of a 40–50 day oscillation in the zonal wind in the tropical Pacific ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1971 เขียนโดย โรล็องต์ แมดเดน (Roland Madden) และ ปอล ฆูเลียน (Paul Julian) นักภูมิอากาศวิทยา 


สองสหายนี้ ได้ศึกษาสภาพอากาศของเกาะแคนทอน (Canton Island) บริเวณใกล้ฟิจิและคีรีบาติ ในแถบแปซิฟิกใต้ โดยพบว่า จะมีช่วงหนึ่งของปีที่สภาพอากาศของเกาะนี้ “แปรปรวน” ในชนิดที่ “ไม่จำกัดอยู่กับเวลา” หรือก็คือ ความแปรปวนนี้ไม่มีแบบแผน บทจะมาก็มา บทจะไม่มาก็หายเงียบ และส่วนใหญ่มักแทรกอยู่กับเอลนีโญหรือลานีญา


เช่นนี้ ถือว่าเป็นการค้นพบ “ของใหม่” ในวงการภูมิอากาศวิทยา  ทำให้ทั้งสองสามารถสร้างคำอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว และเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า The Madden–Julian Oscillation ตามชื่อสกุลของทั้งสอง 


การค้นพบดังกล่าวนี้ เรียกได้ว่า “รันวงการ” การศึกษาวิจัยความแปรปรวนสภาพอากาศในดินแดนตะวันออกอย่างมาก ถึงขนาดที่เกิดงานศึกษา อาทิ The relationship between tropical cyclones of the western Pacific and Indian Oceans and the Madden–Julian oscillation ของ แบรนด์ ไลบ์มาน (Brant Liebmann) แฮร์รี เฮนดอน ( Harry H. Hendon) และ ยอห์น กลิค (John D. Glick) ที่ “สร้างตัวแบบ” คาดการณ์พายุไซโคลนในแถบเอเชีย เพื่อหาทางรับมือล่วงหน้าได้


หรือแม้แต่งานศึกษา ชื่อ Origin of low-frequency (intraseasonal) oscillations in the tropical atmosphere. Part I: Basic theory ของ เค เอ็ม เล้า (Lau K.M.) และ เพ็ง แอล (Peng L.) ที่สามารถสร้างตัวแบบการคาดการณ์ MJO ที่มีความไม่แน่นอน ให้เกิดขึ้นได้


แม้ว่าเรื่องนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก แต่มีกลุ่มนักภูมิอากาศวิทยา “ชาวจีน” กลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ได้เห็นพ้องกับที่มาของทฤษฎีนี้ ด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า แท้จริง MJO อาจมีรอยทางที่ไม่ได้มาจากตะวันตกเสียอย่างนั้น


จีนเห็นมานาน แต่แสงไม่สาดส่อง


“You see, but you do not observe”


ข้างต้นคือคำกล่าวของ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่ได้กล่าวกับ เจมส์ วัตสัน ผู้ช่วยของเขาในนิยายชื่อตอนว่า “เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย” (A Scandal in Bohemia) ที่ขายดิบขายดี ตรงนี้ ตีความได้ว่า ในบางครั้ง สิ่งที่เราเห็น เราเพียงแต่เห็นอยู่อย่างนั้น หากไม่ได้ตั้งใจพิจารณาจริง ๆ ย่อมไม่อาจที่จะเข้าใจนัยบ่งชี้บางอย่างที่แฝงอยู่ได้


ในการสร้างคำอธิบายของ MJO ก็เช่นเดียวกัน เพราะใช่ว่าการสืบย้อนงานศึกษาในโลกตะวันตก “ไปสุดทาง” จะหมายความว่า สิ่งที่ย้อนไปสุดแล้วนั้น “เก่าแก่ที่สุด” อย่างแท้จริง


ในงานศึกษา A Paper on the Tropical Intraseasonal Oscillation Published in 1963 in a Chinese Journal ของ หลี่ ที แอล (Li T. L.) และ เพ็ง เอ็ม (Peng M.) ได้เสนอว่า การไปเชื่อถือว่า แมดเดนและฆูเลียน เป็นรอยทางของ MJO ถือว่าไม่ครบถ้วน เพราะพวกเขา “วรรณกรรม” แต่งานศึกษาตะวันตก จนลืมไปว่า งานศึกษา “ไม่ได้ตีพิมพ์แต่ภาษาอังกฤษ” เสมอไป

หลี่และเพ็งเสนอต่อไปว่า งานศึกษาแรกสุดของปรากฏการณ์นี้ “ตีพิมพ์เป็นภาษาจีน” มาตั้งแต่ปี 1963 ในชื่อ A preliminarily statistic and synoptic study about the basic currents over southeastern Asia and the initiation of typhoons เขียนโดย เซีย และคณะ (Xie et al.)

งานศึกษานี้ ได้ให้ข้อเสนอที่ตรงกันกับของแมดเดนและฆูเลียน เกือบจะทั้งหมด แม้จะพิจารณา “ความเปลี่ยนแปลงของพายุไต้ฝุ่น” ในเขตร้อนฝั่งตะวันออก แต่ก็นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า ไต้ฝุ่นที่ก่อตัวขึ้นในบริเวณดังกล่าวเท่านั้น ที่จะมีความรุนแรงในบางช่วงเวลา แตกต่างจากไต้ฝุ่นในฤดูมรสุมที่จะรุนแรงน้อยกว่า และจะเกิดขึ้นตามแบบแผนและตามช่วงเวลาเสมอ นั่นจึงหมายความว่า ไต้ฝุ่นในบริเวณนั้น คือความแปรปรวนของสภาพอากาศรูปแบบหนึ่ง ที่เกิดอย่างไม่แน่ไม่นอน


มาถึงตรงนี้ หากจะใช้มาตรวัดว่าด้วยปีที่พิมพ์ ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า เราในฐานะผู้รับสาร มีความเข้าใจผิดไปอย่างมากว่า MJO นำเข้ามาจากโลกตะวันตก ทั้งที่จริง ๆ โลกตะวันออกสังเกตเห็นมาก่อนหน้านั้นเกือบทศวรรษ แต่เพราะมีทัศนคติที่มองว่า ภาษาอังกฤษคือสื่อกลางในการถ่ายทอดงานศึกษาวิจัยแต่เพียงอย่างเดียว จนหลงลืมภาษาอื่น ๆ ไป


แต่บางที “สิ่งที่มาจากตะวันตก” ก็ใช่ว่าจะเป็น “Origin” เสมอไป


แหล่งอ้างอิง

  • บทความ Madden–Julian Oscillation  Its Discovery  Dynamics  and Impact on East Asia

  • บทความ Detection of a 40–50 day oscillation in the zonal wind in the tropical Pacific

  • บทความ A preliminarily statistic and synoptic study about the basic currents over southeastern Asia and the initiation of typhoons

  • บทความ ความแปรปรวนของปริมาณฝนภายในฤดูกาลของประเทศไทยที่เกิดเนื่องจากปรากฏการณ์ Madden-Julian Oscillation (MJO): รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์

  • บทความ A Paper on the Tropical Intraseasonal Oscillation Published in 1963 in a Chinese Journal

ข่าวที่เกี่ยวข้อง