นักวิจัยยืนยัน ปี 2023 อากาศร้อนที่สุดในรอบ 2,000 ปี !
ปีที่แล้ว เราอาจจะได้ยินข่าวที่สืบเนื่องมากจากอากาศร้อนมากมาย เช่น อากาศร้อนทางซีกโลกเหนือทำให้เกิดไฟป่าทั่วทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรืออากาศร้อนในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ จนทำให้ถนนหนทางโค้งงอ ซึ่งงานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งเปิดเผยออกมา อาจทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดมากขึ้น เพราะวิจัยบอกว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม ปี 2023 เป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดในรอบ 2,000 ปี !
ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์เคยประกาศมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2023 แล้วว่า ช่วงเดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม 2023 เป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการจดบันทึกมาในทศวรรษที่ 1940 แต่งานวิจัยใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม 2024 เปิดเผยว่าอากาศร้อนดังกล่าว ทำลายสถิติไปไกลกว่านั้นมาก
ข้อมูลงานวิจัยได้มาจากการตรวจสอบบันทึกอุตุนิยมวิทยาย้อนหลังไปถึงประมาณปี 1840 - 1860 และวิเคราะห์ข้อมูลอุณหภูมิที่ได้จากการศึกษาวงแหวนต้นไม้ 9 แห่งในบริเวณซีกโลกเหนือ
แจน เอสเปอร์ (Jan Esper) ผู้ร่วมเขียนการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยโยฮันเนส กูเทนแบร์ก ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า “เมื่อคุณศึกษาประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลก คุณจะเห็นว่าภาวะโลกร้อนที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างน่าทึ่ง”
งานวิจัยระบุว่าฤดูร้อนปีที่แล้วบนพื้นที่ระหว่างละติจูด 30 - 90 องศาเหนือ (ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของซีกโลกเหนือ พื้นที่นี้รวมถึงประเทศต่างๆ ในอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย และบางส่วนของแอฟริกาเหนือ สถานที่ที่โดดเด่นในช่วงนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา รัสเซีย สแกนดิเนเวีย บางส่วนของจีน ญี่ปุ่น และภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน) อุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 2.07 องศาเซลเซียส
โดยทั่วไป เมื่อนักวิทยาศาสตร์อ้างถึงค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมในบริบทของการวิจัยสภาพภูมิอากาศ จะหมายถึงระดับอุณหภูมิก่อนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแพร่หลายและกิจกรรมทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเริ่มขึ้นประมาณกลางศตวรรษที่ 19
ส่วนข้อมูลจากวงแหวนต้นไม้ชี้ว่าอุณหภูมิในฤดูร้อนปี 2023 ร้อนกว่าอุณหภูมิโดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1 ถึงปีค.ศ. 1890 ประมาณ 2.2 องศาเซลเซียส
ความร้อนจัดในฤดูร้อนปีที่แล้วขยายวงกว้างขึ้นตามรูปแบบสภาพภูมิอากาศเอลนิโญ ซึ่งโดยทั่วไปจะเกิดขึ้นพร้อมกับอุณหภูมิโลกที่อุ่นขึ้น นำไปสู่ “คลื่นความร้อนที่ยาวขึ้น รุนแรงยิ่งขึ้น และความแห้งแล้งที่ยืดเยื้อยาวนาน” เอสเปอร์กล่าว
ทั้งนี้มีงานวิจัยอีกชิ้น ตีพิมพ์ในวารสารพลอส เมดิซิน (PLOS Medicine) ฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม 2024 นำโดย ฉี จ้าว (Qi Zhao) จากมหาวิทยาลัยโมนาช เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เปิดเผยว่าระหว่างปี 1990 - 2019 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 150,000 คนที่เกี่ยวข้องกับอากาศร้อน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 1 ของการเสียชีวิตทั่วโลก ทั้งนี้มากกว่าครึ่งของการเสียชีวิตจากอากาศร้อน เกิดขึ้นในทวีปเอเชียที่มีประชากรหนาแน่น แต่หากพิจารณาตามจำนวนประชากร พบว่ายุโรปมีจำนวนผู้เสียชีวิตต่อหัวสูงสุด โดยมีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนโดยเฉลี่ย 655 รายต่อปีต่อประชากร 10 ล้านคน
ที่มาข้อมูล Reuters, Nature, PLOS
ที่มารูปภาพ Reuters