รีเซต

ไทยน้ำท่วมแล้วกว่าล้านไร่ มวลน้ำเคลื่อนสู่พิจิตร-นครสวรรค์

ไทยน้ำท่วมแล้วกว่าล้านไร่  มวลน้ำเคลื่อนสู่พิจิตร-นครสวรรค์
TNN ช่อง16
2 กันยายน 2567 ( 12:42 )
22
ไทยน้ำท่วมแล้วกว่าล้านไร่  มวลน้ำเคลื่อนสู่พิจิตร-นครสวรรค์

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ  จิสด้า เผยการติดตามพื้นที่น้ำท่วมขังจากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม บันทึกภาพวันที่ 30 สิงหาคม 2567 พบว่ายังมีพื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณบางส่วนของจังหวัดเชียงราย นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สิงห์บุรี สุโขทัย อ่างทอง และอุตรดิตถ์ ประมาณ 493,000 ไร่ ทั้งนี้ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมกว่า 1 ล้านไร่ ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 99,000 คน 


ดร.ฐิตวดี สุวัจนานนท์ นักภูมิสารสนเทศจิสด้า กล่าวว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่น้ำท่วมปัจจุบันพบว่ายังมีมวลน้ำท่วมค้างอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย แต่ภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และปัจจุบันปริมาณน้ำในลุ่มน้ำยมบริเวณจังหวัดสุโขทัยบางส่วนได้ เริ่มเคลื่อนตัวช้าลง ที่บริเวณอำเภอบางระกำ  จังหวัดพิษณุโลก โดยได้มีการผันน้ำลงทุ่งบางระกำไปแล้วประมาณร้อยละ 10 คือ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร จากศักยภาพที่รับน้ำได้อยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังสามารถรับน้ำได้อยู่อีกมาก


ซึ่งขณะนี้ ปริมาณน้ำบางส่วนได้ไหลลงสู่พื้นที่จังหวัดตอนล่างของพิษณุโลก โดยอำเภอที่ได้รับผลกระทบ คือ อำเภอตามแนวลำน้ำน่าน ได้แก่ อ.สากเหล็ก อ.ตะพานหิน อ.บางมูลนาค จังหวัดพิจิตร และลงมามายังพื้นที่ตำบลบนของจังหวัดนครสวรรค์ ที่อำเภอชุมแสง ขณะที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานได้มีการเพิ่มการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,400 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ซึ่งหากยังคงมีการระบายน้ำในระดับนี้ต่อเนื่องไปอีก 1 สัปดาห์ ส่งผลกระทบทำให้ท้ายน้ำ บริเวณคลองโผงเผง อ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 ที่ผ่านมาถือว่ายังไม่ได้รุนแรง เนื่องจากพื้นที่รับน้ำยังเพียงพอ


โดยอุทกภัยน้ำท่วมในปีนี้ จิสด้าได้ใช้ข้อมูลดาวเทียมจากดาวเทียมธีออส 2 ที่ส่งขึ้นไปวงโครเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ในการช่วยประเมินพื้นที่ปลูกข้าวในทุ่งรับน้ำเพื่อตรวจสอบระยะของการเจริญเติบโตและนำข้อมูลไปใช้ในการพิจารณาในการประชุมวางแผนเพื่อบริหารจัดการน้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นการระบายน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำต่างๆโดยไม่ให้เกิดผลเสียต่อข้าวในทุ่งรับน้ำ



ข่าวที่เกี่ยวข้อง