แพทย์รามาฯ เผยวิธีฆ่าเชื้อ "โควิด-19" หน้ากาก N95 ยันใช้ซ้ำได้ถึง 8 ครั้ง
แพทย์รามาฯ เผยวิธีฆ่าเชื้อ “โควิด-19” หน้ากาก N95 ยันใช้ซ้ำได้ถึง 8 ครั้ง
หน้ากาก N95 – เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผศ.พญ.ดรุณี โชติประสิทธิ์สกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี เปิดเผยวิธีการนำหน้ากากอนามัย N95 กลับมาใช้ใหม่เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ว่า สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 8 ครั้ง ด้วยการฆ่าเชื้อรังสี UV-C โดย รพ.รามาธิบดี เริ่มใช้แนวทางนี้ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ขอวอนประชาชนทั่วไป อย่าแห่ซื้อเครื่องมือนี้มาใช้ เนื่องจากหวั่นเกรงว่าบุคลากรแพทย์อาจไม่มีใช้ป้องกันเชื้อในขณะปฏิบัติงาน เพราะขณะนี้ทั่วโลกต้องใช้หน้ากาก N95 เหมือนกันหมดจนสินค้าอาจไม่เพียงพอ
“การใช้หม้อรังสี UV-C ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหน้ากากอนามัย N 95 เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ขณะนี้ รพ.รามาธิบดี เริ่มมีการนำหน้ากากอนามัย N95 กลับมาใช้ใหม่ เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีการใช้หม้อรังสี UV-C และหม้ออบร้อน นาน 20 นาที มาใช้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ซึ่งพบว่าการใช้ฆ่าเชื้อนี้ สามารถทำให้หน้ากากอนามัยกลับมาใช้ใหม่ได้นานถึง 8 ครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นกับกับความกระชับของหน้ากาก หากยางที่ใช้รัดเสื่อมก็ต้องเลิกใช้ทันที หน้ากากอนามัย N 95 ที่ใช้นี้ ทาง รพ.รามาฯ จะมีการแจกจ่ายให้เป็นแบบคนแพทย์เฉพาะคน การใช้จึงถือเป็นสมบัติส่วนตัว ที่ทุกคนต้องดูแล และในการฆ่าเชื้อ แพทย์จะมีการจดวันที่ลงในหน้ากากเพื่อให้ทราบว่านำมาฆ่าเชื้อแล้วอีกครั้ง” ผศ.พญ.ดรุณี กล่าว
นอกจากนี้ ผศ.พญ.ดรุณี กล่าวว่า ในการฆ่าเชื้อด้วย รังสี UV-C นั้น แตกต่างจากรังสีทั่วไปหรือแสงแดด เพราะมีความรุนแรงและเข้มกว่า เหมาะกับฆ่าเชื้อ ซึ่งต้องมีความระมัดระวังเพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดอันตราย ตั้งแต่ตาต้อกระจก รวมถึงมะเร็ง การนำวิธีการนี้มาใช้ในการฆ่าเชื้อ เพื่อนำหน้ากากอนามัย N95 มาใช้ใหม่ เพราะขณะนี้ อุปกรณ์ป้องกันเหล่านี้มีอยู่จำกัด ทั่วโลกมีความต้องการใช้เหมือนกันหมด
“บุคคลกรที่ได้รับหน้ากาก N95 นั้น จะต้องเป็นคนที่ทำงานกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง และต้องทำหัตถการ กับคนไข้ แบบใกล้ชิด ดังนั้น ไม่อยากให้ประชาชนที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัย N95 มีการซื้อหาหม้อลักษณะแบบนี้มาใช้อีก เพราะจะทำให้บุคลากรที่เป็นด่านหน้าในการรักษาขาดแคลนเครื่องป้องกัน และทำงานอย่างลำบาก ปัจจุบัน รพ.รามาธิบดีมีหม้อในลักษณะกว่า 35 เครื่อง กระจายอยู่ตามหอผู้ป่วย” ผศ.พญ.ดรุณี กล่าว